คอลัมน์ครอบครัวแคร์
การสื่อสารเชิงบวกกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว
เรื่อง เกศนีย์ นุชประมูล
ในช่วงที่เกิดวิกฤตระบาดของไวรัสโควิด – 19 หลายครอบครัวต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งในโลกของการทำงานแล้วน้อยครั้งที่หลาย ๆ ครอบครัวจะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน จนบางครั้งหลายครอบครัวเกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แนบแน่น คือ การพูดคุยสื่อสารกันเพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน แล้วเราจะทำยังไงให้การสื่อสารนั้นไม่เป็นผลลบกับครอบครัว คุณโจ มณฑานี ตันติสุข กูรูด้านการเงินและความสัมพันธ์ มีคำแนะนำมาบอกต่อ
การสื่อสารคืออะไร
การสื่อสารเป็นกระบวนการติดต่อสัมพันธ์ ถ่ายทอดข้อมูล ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และค่านิยมระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ การสื่อสารที่ดีนำ ไปใช้ในการสอน ประชาสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในชีวิตประจำวันทุกคนต้องพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอยู่เสมอ การสื่อสารทางบวก (positive communication) เป็นรูปแบบและเทคนิคการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึก ความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จูงใจให้ร่วมมือเกิดการยอมรับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โซเชียลมีเดียทำให้ข้อมูลสับสน
ทุกวันนี้การสื่อสารในภาวะโรคระบาดกำลังเป็นปัญหา เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งปัญหาคือเราไม่สามารถห้ามหรือควบคุมได้ ทุกคนสามารถแชร์อะไรก็ได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีการกลั่นกรอง ส่งผลให้เกิดความสับสน และความเข้าใจผิดในสังคมได้ แตกต่างจากในอดีตที่การสื่อสารส่วนใหญ่มักเกินขึ้นในที่ทำงาน การพูดคุยกันแบบสภากาแฟ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือเลือกรับข้อมูลที่มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน แต่ทั้งนี้ต้องรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะด้วยจะดีมาก ๆ
การสื่อสารในครอบครัว
การสื่อสารในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากภายใต้วิกฤตแบบนี้ ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบการสื่อสารระหว่างคนตะวันตกกับคนเอเชียที่แตกต่างกัน คนตะวันตกจะสอนในทฤษฎีความสัมพันธ์เสมอ โดยบอกว่าการสื่อสารกันมีความสำคัญ เพราะคนเราต้องพูดคุยกัน ยกตัวอย่าง คู่ชีวิตเอาแต่ใจไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น วิธีการสื่อสารที่จะทำให้ไม่ทะเลาะกัน คือเราต้องดูว่าจุดที่ทำให้เขาอ่อนลงคืออะไร อย่าพยายามอธิบายเหตุผลกับคนที่มั่นใจในตัวเองสูง แต่เราต้องปล่อยให้เขาทำจนถึงขีดสุด ความอ่อนโยนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงกลับมาฟังเรา ที่สำคัญต้องไม่พูดขณะที่อารมณ์ร้อน และให้ใช้คำพูดที่อ่อนโยน ส่วนคนเอเชียมีลักษณะนิสัยขี้อาย พูดคุยกันน้อย จึงมักทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารได้ง่าย
พูดดีๆกับพ่อแม่ได้มั้ย
อีกกรณีที่มักจะมีคนถามค่อนข้างมาก คือทำไมเราถึงพูดกับแม่ดีๆไม่เคยได้ ตรงนี้ต้องถามย้อนกลับไปว่าบางครั้งแม่สื่อสารดีๆกับเราหรือไม่ พอแม่สื่อสารไม่รู้เรื่องแล้วส่งมาที่เรา เราก็มีปฏิกริยาตอบกลับด้วยการป้อนคำไม่รู้เรื่องใส่กลับไป แม่ก็ยิ่งป้อนคำไม่รู้เรื่องกลับ เราต่างป้อนพลังงานใส่กันเสมอ ตรงนี้จึงเรียกว่าปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แปลว่าเราต่างป้อนพลังลบใส่กัน ดังนั้น เราอาจต้องหาทางสื่อสารใหม่ วิธีแก้คือเราต้องเข้าใจคนที่เราจะสื่อสารด้วยก่อนว่าระดับความคิด อารมณ์ เขาเป็นแบบไหน
อาจเกิดคำถามว่าทำไมเราต้องเป็นฝ่ายเข้าใจเขาตลอดเวลา ซึ่งวิธีทำให้ตัวเองเกิดสันติสุขอย่าตั้งคำถามว่าใครทำ ถ้าเราทำแบบนี้แล้วสงบสุข ใครรู้ก่อนแล้วทำก่อน คนนั้นมีความสุขก่อน ไม่ต้องไปคิดว่าทำไมเราถึงเป็นฝ่ายที่ต้องเข้าใจ ทำไมเราต้องสรรหาคำพูด ถ้าหากเราเป็นคนรู้ก่อน เรามีวิธีการที่ดีกว่าให้เราทำเพื่อที่ชีวิตจะได้ง่ายขึ้น เราไม่ได้ยอมเขา แต่เรากำลังหาวิธีที่ทำให้ชีวิตเราเกิดสันติสุขได้มากที่สุด
พูดแล้วทะเลาะกันตลอด
ในความสัมพันธ์คู่รักที่อีกฝ่ายเป็นประเภทเก่งทุกเรื่อง ถูกเสมอ รู้ทุกอย่าง การที่เราคบกับเขาแล้วจะต้องรู้ว่าเขาเป็นคนที่มีอีโก้สูงหรือไม่ อีกฝ่ายควรเป็นคนที่สื่อสารด้วยความอ่อนโยน ไพเราะ หากเป็นไปได้ควรรอให้อีกฝ่ายใจเย็นลงก่อน เราควรพูดในสิ่งที่เค้าอยากฟัง วิธีการคือควรพูดสั้น ๆ ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย
สุดท้ายเวลาที่เราจะสื่อสารกับคนในครอบครัว สิ่งที่ควรเน้นคือประเด็นที่อยากจะพูด เราต้องรู้ว่าหัวใจของเรื่องคืออะไรไม่ต้องพูดเยอะ แต่ให้พูดอย่างอ่อนโยน และหัดพูดคำว่าขอบคุณในโอกาสที่ควรพูด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ครอบครัวคือบุคคลที่เราใกล้ชิดมากที่สุด นอกจากใช้ความรัก ความเมตตาแล้ว อีกส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจ บางครอบครัวรักกันแต่ไม่เข้าใจกัน ก็ทำให้การสื่อสารในครอบครัวล้มเหลว ในภาวะวิกฤตแบบนี้การให้กำลังใจ การพูดคุยสื่อสาร สำคัญที่สุด