นับแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้มีวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เจริญรุดหน้า การค้นพบเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคที่ไม่เคยรักษาให้หายขาดได้ ความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้ ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม ทารกที่เกิดใหม่มีโอกาสอยู่รอดเพิ่มขึ้น ซึ่งการค้นพบนี้นับว่าเป็นผลดีต่อมนุษยชาติ แต่ในทางกลับกันก็เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงตามมา เช่น อัตราการตายในประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน ในขณะอัตราการเกิดยังคงอยู่ในระดับสูง มีผลให้อัตราการเพิ่มของประชากรพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร อันเป็นสาเหตุของความไม่สมดุลย์ของจำนวนประชากรกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

สารพัดปัญหาของการเพิ่มอัตราประชากร

ปี พ.ศ. 2499 – 2500 ธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่า หากการเพิ่มของประชากรไทยอยู่ในอัตราที่สูงเช่นนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาที่น่าวิตกตามมาหลายประการ เช่น การขาดแคลนโรงเรียน ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาด้านบริการสาธารณสุข ปัญหาที่สำคัญคือการเพิ่มผลผลิตในระยะ 5 ปี ข้างหน้า อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และที่น่าวิตกมากที่สุดคือจะเกิดวิกฤตปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงในอนาคต

จุดเริ่มต้นการวางแผนครอบครัวครั้งแรกในประเทศไทย

รัฐบาลได้ทบทวนและพิจารณาถึงผลกระทบต่าง ๆ อันเกิดจากการเพิ่มตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรและได้มอบหมายให้สภาวิจัย แห่งชาติร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ จัดให้มีการสัมมนาปัญหาประชากรถึง 3 ครั้ง เริ่มในปี พ.ศ. 2505, 2508 และ 2511 ปี พ.ศ. 2507 กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองกิจกรรมด้านการวางแผนครอบครัวในชนบทบางจุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนต้องการบริการด้านการวางแผนครอบครัวอย่าง มาก จึงได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ และนักวิชาการ ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการช่วยเหลืองานของรัฐบาลในด้านการวางแผนครอบครัว ขึ้น หลังจากที่ได้ยกร่าง กฎ-ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงได้เสนอขออนุญาตจดทะเบียนก่อตั้ง และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2513 ภายใต้ชื่อ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) พร้อมกับประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐบาลในปีนั้นเอง

บริการประชาชนครบทุกด้าน

เปิดตัวคลินิกบริการวางแผนครอบครัวทันสมัยที่สุด นับตั้งแต่นั้นมา สวท ได้ใช้ตึกหรั่ง กันตารัติชั้น 3 เป็นสำนักงาน และยังได้รับความสะดวกจากสภากาชาดไทยให้ใช้ห้องประชุมของแผนกสูติ-นรีเวช เพื่อจัดอบรมและดำเนินกิจกรรมด้านการให้การศึกษาและการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ อีกทั้งยังมีคลินิกที่มีการวางแผนครอบครัวทันสมัยที่สุดอยู่ที่ชั้น 2 ไว้บริการประชาชนด้วย

ร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF)

ทางด้านงบการเงินเพื่อใช้ดำเนินโครงการต่าง ๆ นั้น สวท ได้รับเงินส่วนหนึ่งจากค่าบำรุงของสมาชิก และได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศได้แก่ สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation) ภายหลังจาก สวท ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและถูกต้องตามกฏข้อบังคับ ของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศแล้ว สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้สมัครเป็นสมาชิกของสหพันธ์ระหว่างประเทศ และยังอยู่ในฐานะสมาชิกสมทบ ซึ่งมีสิทธิที่จะมีผู้แทนของสมาคมฯ 1 คน (เท่ากับ1 เสียง) และเป็นผู้แทนของสมาคมฯ ในคณะกรรมการสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศส่วนภูมิภาคและคณะกรรมการ สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศส่วนกลาง หลังจากเป็นสมาชิกสมทบ 2 ปี สวท จึงมีสิทธิมีผู้แทน 2 คน (2เสียง) หมายถึง 1 เสียงในการประชุมคณะกรรมการสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ และ 1 เสียง ในคณะกรรมการสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศส่วนกลาง ต่อมา สวท ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกสามัญของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ ในปีพ.ศ. 2520

เร่งวางแผนประชากรและวางแผนครอบครัว

แผนพัฒนาเศรษฐฏิจและสังคม แผน 3 ในปีพ.ศ. 2515-2519 นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ และแผนประชากร นับเป็นช่วงเวลาที่ สวท ต้องทำงานหนักและทุ่มเทอย่างมาก เพื่อจะเปลี่ยนแนวความคิดดั้งเดิมเรื่องการเพิ่มประชากร มาเป็นการวางแผนประชากร การวางแผนครอบครัวและการเพิ่มคุณภาพของชีวิต ในการทำงานครั้งนี้ถือเป็นงานท้าทายและยากยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติของ ผู้กำหนดนโยบายระดับสูง นับว่า สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ช่วยงานของชาติให้ประสบความสำเร็จได้อย่างดียิ่ง โดยได้จัดสัมมนาหลายครั้งในแต่ละปี ให้กับผู้บริหารระดับสูง ในหน่วยงานระดับกรมกองและกระทรวง และขยายไปในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยภารกิจความรับผิดชอบที่มากขึ้นและหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ สวท มากขึ้น เพื่อให้ทันกับการดำเนินงาน ด้วยการขยายการทำงานอย่างรวดเร็วของสวท ปี พ.ศ. 2515 จึงย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา

ปรับเปลี่ยนนโยบายให้ทันยุคสมัย

ขยายบริการครบทุกด้าน บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทิศทางการทำงานของ สวท จะปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย และตรงตามความต้องการของคนในประเทศ ตลอดจนสนองตอบนโยบายของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ งานในช่วงเริ่มต้นของ สวท เน้นหนักเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารและผู้วางนโยบาย สวท ได้รณรงค์ด้านการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติทางด้านการวางแผนครอบครัว สวท จะเป็นผู้ให้บริการทุกอย่าง และช่วยงานรัฐบาลหลาย ๆ ด้านที่หน่วยงานรัฐยังทำไม่ได้เต็มที่หรือทำได้ไม่ทั่วถึง ต่อมาแนวนโยบายทั้งของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศและของโครงการวาง แผนครอบครัวแห่งชาติ ได้ขยายบริการมากขึ้น ส่งผลให้มีการก่อตั้งสมาคม ฯ ที่มีลักษณะงานด้านการวางแผนครอบครัวเช่นเดียวกันเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานอย่างมาก เพราะทุกสมาคมฯได้ประสานงานร่วมกัน จัดประชุมร่วมกัน และขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อม ๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้