โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข (O1/05/18)
สวท เห็นความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของระบบและกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่เหมาะสมตามช่วงวัย ทั้งด้านกาย จิต สังคม และปัญญา และพร้อมออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข รวมทั้งเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือประเมินตนเองและพัฒนาระบบบริการหลัก ที่ใช้ในการพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับการประเมินผลอย่างเป็นระบบจนเกิดสถานสงเคราะห์ที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ดูงานและสามารถนำรูปแบบไปขยายผลในสถานสงเคราะห์อื่นได้ มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 – สิงหาคม 2564 โดยได้รับงบประมาณดำเนินงานโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในปี 2563 ได้สนับสนุนให้บุคลากรในและนอกสถานสงเคราะห์ จัดกิจกรรมการสร้างความรู้ให้เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ 5 แห่ง ตาม 5 โปรแกรมหลัก มีเด็กและเยาวชนได้รับความรู้ ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรม พบว่า เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ได้เห็น/ค้นพบคุณค่าในตนเอง มีความกล้าแสดงความคิดเห็น เกิดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีการหยิบยื่นโอกาสให้สังคมรอบข้าง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จากการฝึกทักษะอาชีพ ได้แก่ กล้วยทอด มันทอด ไอติมหลอดโบราณ มะม่วงน้ำปลาหวาน บัวลอยไข่หวาน มะพร้าวอ่อน เป็นต้น อีกทั้ง มีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศ การแสดงออก และบทบาทหน้าที่ทางสังคม สามารถนำทักษะ ความรู้ และข้อคิดที่ได้รับไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมออกสู่สังคมอย่างเป็นสุขได้หากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจน สวท ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ในการพัฒนาระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานระบบคุณภาพ เพื่อพัฒนาระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์ด้วยกระบวนการเทียบระดับ รวมถึงวิเคราะห์และประเมินผลความสำเร็จ พร้อมทั้งนำเสนอปัญหาและอุปสรรค และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคนิค Fish Bowl และการใช้ MIO เป็นวิถีองค์กร ในประเด็นความสำเร็จ/ ปัญหา และการประชุมทีมงานหลัก (Core Team) เพื่อพัฒนาระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์ทั้งระบบสนับสนุนและระบบหลัก ตาม Macro Flow chart รวมทั้งเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์ และตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลโครงการ และเพื่อการศึกษาดูงานแบบเสมือนจริงในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานสงเคราะห์ด้วยกระบวนการเทียบระดับ ในการประชุมได้มีการจัดทำตัวชี้วัดโครงการและตัวชี้วัดรองรับข้อกำหนดระบบ ซึ่งได้มีการวิพากษ์/ วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ และสรุปผลการจัดทำตัวชี้วัด รวมทั้งประเมินหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ (After Action Review: AAR) ผลจากการประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวชี้วัดโครงการ และตัวชี้วัดรองรับข้อกำหนดระบบ
นอกจากนี้ ได้มีติดตามหนุนเสริมการดำเนินกิจกรรมโครงการในสถานสงเคราะห์ 5 แห่ง โดยวิทยากรพี่เลี้ยงประจำสถานสงเคราะห์ โดยวิทยากรพี่เลี้ยงได้ใช้วิธีการจัดประชุม “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) กัลยาณมิตรสนทนา (Dialogue) และการอภิปรายเชิงสร้างสรรค์ (Creative) โดยให้ผู้แทนสถานสงเคราะห์นำเสนอผลการจัดกิจกรรม ภายใต้ 4 ประเด็น ดังนี้ 1) วิธีการปฏิบัติที่ได้ผลดี ตามข้อกำหนดของระบบ 2) วิธีการปฏิบัติที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติม 3) กำหนดเรื่องที่จะออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติม มอบหมายให้ไปยกร่างนำมาเสนอครั้งต่อไป และ 4) ร่วมกันทบทวน/ปรับปรุง/พัฒนาโครงการ ซึ่งจากกรอบประเด็นทำให้ได้แนวทางการพัฒนาปรับปรุงการจัดกิจกรรมต่อไป