ขอบเขตการจ้างที่ปรึกษา (Term of Reference)
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
1. หลักการและเหตุผล
ด้วยตระหนักถึงปัญหาอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อตอบสนองในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ อันได้แก่การให้ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศ ไปจนถึงการส่งเสริม เพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มเยาวชน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 โดยความร่วมมือของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ พบว่าในทางปฏิบัติ เยาวชนจากกลุ่มที่มีความเปราะบางยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้และบริการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนพิการซึ่งต้องพบกับอุปสรรคทั้งทางร่างกายและการถูกตีตราจากสังคมเมื่อเข้ารับความรู้และ/หรือบริการอนามัยเจริญพันธุ์ จากการศึกษายังพบอีกว่าไม่มีหลักสูตร ชุดความรู้ที่ให้ข้อมูลความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละกลุ่มความพิการ ซึ่งเป็นปัจจัยให้กลุ่มเยาวชนพิการไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิที่ทางเพศที่ถูกต้องอันนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ เช่นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์หลักสูตรการให้ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่มีอยู่ กับความต้องการของเยาวชนพิการ
2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสม ในการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเยาวชน ที่มีความพิการทางสายตา พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางสติปัญญา
3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธ์และสิทธิทางเพศ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเยาวชนพิการทางสายตา ทางการได้ยิน ทางการเคลื่อนไหว และทางสติปัญญา ในลำดับต่อไป
3. ขอบเขตการดำเนินงาน
3.1 ศึกษาข้อมูลแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization UNESCO)
3.2 รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลจากกลุ่มเยาวชนพิการทางสายตา พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว และพิการทางสติปัญญาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละกลุ่มความพิการ จากเวทีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้จัดขึ้น
3.3 วิเคราะห์ข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อหาช่องว่างหรือประเด็นที่ยังขาดหายไปในแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO
3.4 นำเสนอผลการศึกษา และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมกับเยาวชนพิการ
3.5 จัดทำรายงานนำเสนอผลการศึกษา ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมกับเยาวชนพิการ
4. งบประมาณ 85,000 บาท
5. เงื่อนไขการจ้างงาน
5.1 ระยะเวลาดำเนินงานภายในระยะเวลา 4 เดือน ในปี พ.ศ. 2562 นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา
5.2 การเสนอผลงาน
5.2.1 งวดที่ 1 จัดส่งและนำเสนอรายงานขั้นต้นของผลการศึกษาจากข้อ 3.1 ข้อ 3.2 ข้อ 3.3 และ ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมกับเยาวชนพิการทางสายตา พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว และพิการทางสติปัญญาเพื่อพิจารณา
5.2.2 งวดที่ 2 จัดส่งรายงานผลการศึกษา และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศที่เหมาะสมกับเยาวชนพิการที่สมบูรณ์แล้ว จำนวน 5 ชุด พร้อมแผ่นซีดีบันทึกข้อมูล จำนวน 5 ชุด
6. การเบิกจ่ายเงินตามสัญญา การเบิกจ่ายค่าจ้างจะแบ่งเป็น 3 งวดคือ
งวดที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างร้อยละ 40 ของเงินค่าจ้างทั้งหมดภายหลังการลงนามในสัญญาจ้างภายใน 20 วันนับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา
งวดที่ 2 กำหนดจ่ายค่าจ้างร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้างทั้งหมดภายหลังการลงนามในสัญญาจ้างและภายหลังการส่งมอบงานงวดที่ 1 ที่มีผลงานครบถ้วนตามข้อ 5.1 ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา
งวดที่ 3 กำหนดจ่ายค่าจ้างร้อยละ 40 ของเงินค่าจ้างทั้งหมดภายหลังการลงนามในสัญญาจ้างและภายหลังการส่งมอบงานงวดที่ 2 ที่มีผลงานครบถ้วนตามข้อ 5.2 ภายใน 4 เดือนนับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา
7. ข้อสงวนสิทธิ์
7.1 ผลงานต่างๆทั้งในรูปแบบเอกสารและ CD-Rom เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ
7.2 สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ สงวนสิทธิ์ที่จะบอกเลิกจ้างในกรณีที่ที่ปรึกษาไม่สามารถส่งงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 5 การนำเสนอผลงานด้วยเหตุผลอันสมควรและหากที่ปรึกษาไม่สามารถส่งมอบงานตามที่กำหนดแล้ว ที่ปรึกษาจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นรายวัน ในอัตรา ร้อยละ 0.1 ของวงเงินค่าจ้างตามสัญญา
ผู้สนใจสามารถยื่นเอกสารแสดงความประสงค์ พร้อมแนบประวัติและผลงานที่เกี่ยวข้อง
มายังสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เลขที่ 8 ซอยวิภาวดีรังสิต 44 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2941-2320 ต่อ 131,135 (ส่วนงานบริหาร)
หรือทาง E-mail : ppat.bkk@gmail.com
ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562