เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) ร่วมกับ สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศไทย (IPPF) และ Japan Trust Fund (JTF) ร่วมจัดงานเปิดตัว โครงการ“การตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หนีภัยจากพื้นที่ชายแดนเมียนมา” ในพื้นที่จังหวัดตาก ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด เพื่อส่งเสริมความรู้ บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้กับประชากรผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา เข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมด้วย Mr. Yosuke Kobayashi เลขานุการเอก (สุขภาพและสวัสดิการ) สถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และ Ms. Yuri Taniguchi หัวหน้า (เอเชีย/รัฐบาลญี่ปุ่น) ทีมผู้บริจาคสัมพันธ์และระดมทุน ร่วมเป็นประธานเปิดตัวโครงการ ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสมเด็จอุปถัมภ์ ซอยวิภาวดีรังสิต 44 กทม.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาภายหลังการสู้รบเมื่อปี พ.ศ 2564 ซึ่งเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับประชากร ส่งผลให้มีผู้หนีภัยการสู้รบไปยังประเทศต่างๆที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา โดย UNHCR คาดประมาณว่ามีผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาอย่างน้อย 100,000 คน หลบหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย สมาคมฯ ตระหนักถึงอุปสรรคสำคัญและข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของประชากรผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิง โดยเฉพาะสตรีและเด็กหญิงที่เผชิญกับความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพ (SGBV) สมาคมฯ จึงได้ริเริ่มโครงการ “การตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หนีภัยจากพื้นที่ชายแดนเมียนมา” ในพื้นที่จังหวัดตาก ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Japan Trust Fund (JTF) มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความรู้ และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้กับประชากรผู้หนีภัยการสู้รบจากความขัดแย้งในเมียนมา เข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 6,000 คน และส่งมอบบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้หนีภัยการสู้รบจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย
เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวต่ออีกว่า ในนามของ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯขอขอบคุณองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย สถานทูตญี่ปุ่น Japan International Cooperation Agency (JICA) สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ และ UNHCR ที่ร่วมกันทำงานด้านสิทธิมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติ มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดงานเปิดตัวยังมีการเสวนาเรื่อง “การทำงานกับพันธมิตรและชุมชน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. นันทกาญจน์ สูงสุมาลย์ วูดแฮม ผู้อำนวยการสมาคมฯ คุณรุ่งรัศมี ศรีวงศ์พันธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบและแรงงานข้ามชาติ Dr. Htet Aung Kyaw, Senior Health Manager of IRC และคุณนุชนารถ ระรื่น ผู้จัดการโครงการ โดยมีผู้ร่วมงานจาก UNFPA ประเทศไทย JICA Thailand Office IRC และองค์กรภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงานในครั้งนี้