คอลัมน์พันธกิจผลิตผล
เกษตรกรไทยจำเป็นต้องเรียนรู้อนามัยการเจริญพันธุ์มั้ย?
เกษตรกรนับได้ว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด สร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศประมาณร้อยละ 9 ของ GDP โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางด้านรายได้ของภาคเกษตร กลับมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ ขาดความมั่นคงทางรายได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และส่งผลต่อปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ตามมา(Kitchen of the World )
ขณะที่ ข้อมูลกรมอนามัย สธ. ระบุว่า เกษตรกรร้อยละ 70 ประสบปัญหาการขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหาการวางแผนครอบครัว การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และปัญหาการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถเข้าไม่ถึงแหล่งความรู้และบริการได้ หากจำแนกปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พบว่า ในกลุ่มสตรีมีปัญหาสุขภาพมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เวชภัณฑ์คุมกำเนิด โดยเฉพาะ วิธีการกินยาเม็ดคุมกำเนิดที่ถูกต้อง (คู่มือการให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรมอนามัย สธ.)
จากปัญหาที่เกิดขึ้น สมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยมากว่า 50 ปี เล็งเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้กับเกษตรกร จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย เช่นเดี่ยวกัน จึงได้ดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการถึงความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์และการดูแลสุขภาพตนเองในกลุ่มเกษตรกรไทย” ซึ่งมีชื่อว่า GROWTH (Grow Together Healthier) ขึ้นมีเป้าหมายสำคัญคือการ สร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว การใช้เวชภัณฑ์การคุมกำเนิดที่ถูกต้อง ตลอดถึงการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับเกษตรกรรายย่อย 2,500 ราย ใน 10 จังหวัดของประเทศไทยจัดขึ้นในระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงธันวาคม 2565 ในรูปแบบของการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และการดูแลตนเองโดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนำเสนอแพลตฟอร์มการให้คำปรึกษาออนไลน์สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมในโครงการนี้
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ (สวท) กล่าวว่า การศึกษาและความรู้เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ พันธกิจของสมาคมฯ คือเพิ่มการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้แก่กลุ่มประชากรเป้าหมาย เพื่อให้ประชากรสามารถดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน ตลอดจนเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างเหมาะสม อุตสาหกรรมเกษตรเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เกษตรกรในประเทศไทยมีจำนวน 8.09 ล้านครัวเรือน(ข้อมูลปี 2563) มากกว่าร้อยละ 50 ประสบปัญหาขาดความรู้ที่เหมาะสมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการวางแผนครอบครัวและวิธีการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี อันเนื่องมาจากขาดการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางการแพทย์ เนื่องจากเวลาว่างของเกษตรกรไม่สอดคล้องกับเวลาทำการของสถานพยาบาลในพื้นที่ของตน นอกจากนี้ เศรษฐกิจในภาคครัวเรือนของเกษตรกรไทย ค่อนข้างต่ำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการหารายได้มากกว่าสุขภาพของตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต
“ความร่วมมือของเราในโครงการนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และการดูแลตนเอง เพื่อให้เกษตรกรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา” รศ.ดร.ฤๅเดช กล่าว
ภายใต้โครงการนี้ จะมีการจัดการฝึกอบรมภาคสนามขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาที่มีชื่อเสียงได้แก่ รศ.ร.อ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ ร.น. สูตินรีแพทย์ และกรรมการบริหารราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ ศ.กิตติคุณ นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรใน 14 พื้นที่ใน 10 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจได้ว่าเมื่อไหร่เหมาะสมที่จะมีบุตร ให้อำนาจแก่สตรีในการตัดสินใจเลือกอย่างมีข้อมูล เพื่อวางแผนอนาคตของครอบครัว พร้อมกับมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองเพื่อรักษาสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้จัดทำแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาออนไลน์เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการสามารถขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังจะได้รับการถ่ายทอดไปยังครอบครัวและเพื่อนอีกด้วย ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ขณะที่ คุณจินอา ลี กรรมการผู้จัดการบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า เราได้ริเริ่มโครงการ GROWTH โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเราเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของไบเออร์ที่ตั้งใจให้ ทุกคนมีสุขภาพดีและไม่ขาดแคลนอาหาร (Health for all Hunger for none)”
“เราเล็งเห็นว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดี เราได้เห็นผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและเป็นห่วงสุขภาพของผู้อื่นมากขึ้น การระบาดใหญ่ยังทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพลดลงอีกด้วย เนื่องจากความกลัวว่าจะติดเชื้อไวรัส ทำให้หลายคนไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งรวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนครอบครัวด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด” คุณจินอา กล่าว
บริษัท ไบเออร์ไทย ได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการวางแผนครอบครัว อนามัยการเจริญพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อผลักดันการดำเนินโครงการ GROWTH เพื่อเพิ่มการเข้าถึงความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว และความรู้ในการดูแลตัวเองให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อแก้ไขต้นเหตุของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
ในส่วนของนายปนัฐพงศ์ นรดี ผู้จัดการงานเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์/ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการนี้เรามีความคาดหวัง อยากให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเกษตรกร ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เราจึงคิดรูปแบบการให้ความรู้เป็นกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย สนุก สร้างการจดจำได้ง่าย ระยะเวลาไม่นานมาก ซึ่งเนื้อหาที่ถ่ายทอดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ฟังแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของตนเองได้โดยง่าย และที่สำคัญเมื่อรู้แล้วต้องสามารถบอกต่อเนื้อหาไปยังลูกหลาน เพื่อน พี่ป้าน้าอา คนรอบข้างให้ได้มีความรู้ที่ถูกต้องด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่า มีผลตอบรับที่ดี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ในปริมาณที่เหมาะสมและยังได้ฝึกวิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้นไปพร้อมกัน
ขณะที่นางสัมพันธ์ บัวสิงห์ เกษตรกร อำเภอหนองเรือ จ.ขอนแก่น กล่าวหลังเข้าร่วมการอบรมว่าการอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์มาก คุณหมอให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพอนามัย ได้อย่างเข้าใจ เกษตรที่เข้าร่วมการอบรมได้มีโอกาสถามในการสิ่งที่ตนสงสัยสิ่งที่ตนอยากรู้ ซึ่งหลายๆคำถามก็ช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมได้รับความรู้ไปด้วย อยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆเพราะโอกาสที่เกษตรกรจะได้พบหมอนั้นเป็นไปได้ยากมาก อยากขอบคุณคณะผู้จัดงานทุกท่าน
เช่นเดี่ยวกับ นายอนันต์ ขันแก้ว เกษตรกร อำเภอหนองเรือ จ.ขอนแก่น กล่าวหลังเข้าร่วมการอบรมว่า เกษตรกรที่เข้ารับการอบรวมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และทุกคนก็มักจะมีโรคประจำตัว การได้มีโอกาสมาเข้ารับความรู้จากคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นเรื่องที่ดีมาก กิจกรรมการอบรมสนุก ไม่น่าเบื่อ หากมีโอกาสอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้อีก และอยากขอบคุณไบเออร์ไทย และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯเป็นอย่างมากที่มาจัดกิจกรรมให้ความรู้ในครั้งนี้
การดำเนินงานโครงการที่ผ่านมานั้น นับได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงการดูแลสุขภาพอนามัยมากขึ้น สมาคมฯและ บริษัท ไบเออร์ไทย หวังให้การขับเคลื่อนนี้เป็นพลังบวกให้ทุกคนในสังคมได้หันมาตระหนักถึงการดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์และการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ