ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จากข้อมูลปี 2556 พบว่ามีผู้สูงอายุที่เข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 33 เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากโรคนี้ลูกๆหลานๆ จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการของผู้สูงอายุในบ้าน เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ได้ตามลักษณะอาการดังนี้
- รู้สึกเบื่อหน่าย ผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่าย สนใจสิ่งต่างๆน้อยลง หรือหมดความสนใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่เบิกบาน ห่อเหี่ยว หดหู่ หรือเซ็ง
- รู้สึกเศร้า ผู้สูงอายุจะเศร้าโศกเสียใจง่าย น้อยใจง่าย ร้องไห้ง่าย รวมถึงมักรู้สึกท้อใจ
- พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงผู้สูงอายุจะนอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ ตื่นเช้ากว่าปกติ หรือนอนมากขึ้น หลับทั้งวันทั้งคืน หรือขี้เซา
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง เบื่ออาหาร ไม่ค่อยหิว หรืออาจกินจุขึ้น ของที่เคยชอบกลับไม่อยากกิน หรือบางรายอาจอยากกินของที่ปกติไม่กิน เช่น ของหวานๆ
- การเคลื่อนไหวของร่างกายเปลี่ยนแปลง ผู้สูงอายุอาจเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง หรือเคลื่อนไหวมากขึ้น กระวนกระวาย
- กำลังกายเปลี่ยนแปลง อ่อนเพลียง่าย กำลังวังชาลดน้อยถอยลง รู้สึกไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเดิม ไม่ค่อยมีแรง บางรายอาจบ่นเกี่ยวกับอาการทางร่างกายหลายอย่างที่ตรวจไม่พบ สาเหตุ หรือมีอาการมากกว่าอาการปกติของโรคนั้นๆ
- ความรู้สึกต่อตนเองเปลี่ยนแปลง รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง คิดว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน ไม่มีความสามารถเหมือนที่เคยเป็น ความภาคภูมิใจในตัวเองลดน้อยลง อับจนหนทาง หมดหวังในชีวิต
- สมาธิและความทรงจำบกพร่อง หลงลืมบ่อยโดยเฉพาะลืมเรื่องใหม่ๆ ใจลอย คิดไม่ค่อยออก มักลังเลหรือตัดสินใจผิดพลาด
- ทำร้ายตัวเอง ผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการมากๆอาจรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ที่ต่อไป บางรายจะคิดหรือพูดถึงความตายบ่อยๆ นึกอยากตาย และอาจวางแผนทำร้ายร่างกาย เช่น เตรียมสะสมยาจำนวนมากๆ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ จากนั้นอาจลงมือทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กินยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า แขวนคอ หรือใช้อาวุธทำร้ายตนเอง ผู้สูงอายุบางรายอาจไม่ยอมกินยาประจำตัว เพื่อปล่อยให้อาการทรุดลงจนเสียชีวิต
เมื่อตรวจพบอาการที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุภายในบ้าน ควรรีบพาท่านไปพบจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษา หากใครที่มีผู้สูงวัยอยู่ในบ้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลเอาใจใส พูดคุยและมอบความรักให้แก่กัน และต้องหมั่นพาผู้สูงอายุออกกำลังกายด้วยนะครับ เพียงเท่านี้สุขภาพจิตของผู้สูงวัยในบ้านก็จะแข็งแรงอยู่เป็นเสาร์หลักของลูกๆหลานๆไปอีกนาน
ที่มา : คู่มือการดูแลผู้สูงวัย โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.)