การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์ และสถิติการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ประมาณปีละ 300,000 คน และผู้หญิงประมาณ 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ ในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการณ์ว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ จำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ
นอกจากนี้ เครือข่ายท้องไม่พร้อมร่วมกับเครือข่ายแพทย์อาสา R-SA เผยข้อมูลเชิงตัวเลขว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หลายกรณี เกิดจากการป้องกันที่ผิดพลาดและไม่พร้อมมีบุตร บางกรณีอาจเกิดจากฝ่ายชายไม่ยอมป้องกันและไม่รับผิดชอบลูกในท้อง หรือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถดูแลสมาชิกใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ การยุติการตั้งครรภ์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิงว่า ผู้หญิงควรจะมีสิทธิเลือกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของตนเองได้หรือไม่
สำหรับวิธีการยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธี คือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ (เรียกว่า เครื่องดูดสูญญากาศ) และการใช้ยา (ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล) ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูงและทำแท้งได้สำเร็จ โดยการใช้เครื่องมือ สามารถใช้ได้ในอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนการใช้ยา สามารถใช้ได้จนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่อายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์จะมีความปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้ หากมีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์เรียกว่า เร่งคลอด
ปรึกษาท้องไม่พร้อมได้ที่คลินิกเวชกรรม สวท ทั้ง 9 แห่ง
รายละเอียดการรักษาคลินิกเวชกรรม สวท
ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือ มาตรฐานการปฎิบัติงานเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแบบองค์รวม และ Ilaw