วันนี้ (23 ม.ค. 2568) เป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ซึ่งมอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใด สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายนี้ โดยกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2567 ซึ่งมีกำหนดเวลาอีก 120 วันเพื่อให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน อาทิ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว ซึ่งมีรายละเอียดการปรับถ้อยคำจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” และ”สามี-ภริยา” เป็น “คู่สมรส” โดยให้มีผลบังคับใช้วันนี้
สำหรับเอกสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการจดทะเบียนสมรส มีดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- หนังสือรับรองโสด (กรณีสมรสกับชาวต่างชาติ)
- ใบสำคัญการหย่าตัวจริง (กรณีเคยจดทะเบียนสมรส)
- พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน)
นอกจากนี้ ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ยังสามารถเดินทางไปจดทะเบียนสมรสได้ ณ ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วไทย สำนักงานเขต 50 เขตในกรุงเทพมหานคร รวมถึงสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
สิทธิที่จะได้จากสมรสเท่าเทียม
- การแต่งงานจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย – การหย่า
- การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน
- สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส
- การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล
- การอุปการะบุตรบุญธรรม
5 เรื่องพื้นฐานตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม
เรื่องที่ 1 สิทธิในการหมั้น
เรื่องที่ 2 สิทธิในการจดทะเบียนสมรส
เรื่องที่ 3 สิทธิในการดูแลชีวิตคู่ (ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส)
เรื่องที่ 4 สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน – หนี้สินของคู่สมรส
เรื่องที่ 5 สิทธิในการหย่าร้าง
ที่มา สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม