fbpx
Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

เรียนรู้อนามัยแม่และเด็กที่ญี่ปุ่น

IMG_1044

เรื่อง ปนัฐพงศ์ นรดี

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตของเด็กและหญิงระยะตั้งครรภ์และหลังคลอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบสาธารสุขของประเทศมีความทันสมัยและครอบคลุมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และอีกนัยหนึ่งก็เป็นผลจากการลดลงของจำนวนประชากรเด็กเกิดใหม่ จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คน ในปี2567 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์เวียดนาม เกาหลีใต้และอีกกว่า 120 ประเทศ  โดยหญิงตั้งครรภ์จำนวนห้าแสนรายทุกคนต้องได้รับการดูแลติดตาม คัดกรอง และจัดการความเสี่ยงรายบุคคลตามแผนการดูแล (Pregnancy Care Plan) ให้ครอบคลุม  สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของอนามัยแม่และเด็ก จึงได้ส่งบุคลากรทางด้านการแพทย์ เข้าร่วมอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ จำนวน 2 ท่าน คอลัมน์ สวท สเปชียล มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณกรณ์รวี แสนดวง  ผู้จัดการโครงการและรักษาการผู้จัดการคลินิกเวชกรรม สวท เชียงราย และคุณอุทัยวรรณ  เก่งถิ่นดง ผู้จัดการคลินิก เวชกรรม สวท ปิ่นเกล้า  ซึ่งจัดโดย Japan International Cooperation Agency (JICA)

จุดเริ่มต้นของการได้รับทุนในครั้งนี้

กรณ์รวี : JICA ประเทศไทย ได้เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรImprovement of Maternal Health: IMH, 2024 (Knowledge Co-creation Program : In Japan: July 7 to July 27, 2024 Online Follow-up Program: August 26 and 27, 2024  โดย สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่สนใจสามารถยื่นใบสมัครเข้าร่วมได้ ส่วนตัวเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะนำความรู้ที่ได้รับกลับมาพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพงานด้านอนามัยแม่และเด็ก ซึ่ง สวท กำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่ จึงได้ยื่นเอกสารการสมัครเข้าไป ผลปรากฏว่าได้รับคัดเลือกดีใจมาก

อุทัยวรรณ : หลังจากทราบข่าวและได้ปรึกษากับ ผู้อำนวยการสมาคมฯ ท่านให้คำแนะนำดีมากและอธิบายถึงแนวทางการพัฒนางานด้านอนามัยแม่และเด็ก ของ สวท ให้เราได้รับทราบ ตอนนั้นรู้สึกว่ามีพลังใจที่ดีมาก  จึงตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า ตัวเราเองทำงานคลินิกหน้างานมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องอนามัยแม่และเด็ก เราอาจจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้งานอนามัยแม่และเด็กได้ถูกพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น  คิดว่าหากเรามีความรู้เรื่องนี้ดีแล้วประโยชน์จะตกไปอยู่กับผู้มารับบริการคลินิกเวชกรรม สวท  ซึ่งมองเรื่องนี้เป็นอันดับแรก จึงตัดสินใจรับทุนแล้วออกเดินทางไปอบรมในครั้งนี้ 

การไปญี่ปุ่นได้เรียนรู้อะไรบ้าง

กรณ์รวี : การเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ได้รับประโยชน์เกี่ยวกับงานแม่และเด็กเป็นอย่างมาก ความรู้ที่ได้รับประกอบด้วยเนื้อหา หลัก 3 กิจกรรม คือ 1) เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ของการพัฒนางานแม่และเด็กของญี่ปุ่น  2) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนางานแม่และเด็กของแต่ละประเทศ 3) การศึกษาดูงานในสถานที่จริง  โดยเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอนอันได้แก่ การสร้างความตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการพัฒนาและปรับปรุงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ (Awareness) การศึกษา (Study) ผ่านการบรรยายของผู้สอนและการสังเกต (Analysis) การคิดวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดมสมอง (Plan -Mini Action Plan) การจัดเตรียมแผนพัฒนางานแม่และเด็กของแต่ละประเทศ  (Action) นำแผนที่จัดเตรียมไว้ที่ผ่านการให้ข้อเสนอแนะของอาจารย์และการเสนอแนวคิดระดมสมองของผู้เข้ารับการอบรม มาลงมือทดลองปฏิบัติจริงในงานของตัวเอง โดยเป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม นอกจากนี้ เรายังได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย จากผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ประเทศบุรุนดี  ฟิจิ  ไลบีเรีย  เนปาล  ปาปัวนิวกินี  เซียร์ราลีโอน แทนซาเนีย และประเทศไทย  

อุทัยวรรณ: ได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายและระบบการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสอดคล้องของนโยบายในทุกๆระดับ ทุกคนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมคุณภาพสูงราคาไม่แพง ในด้านสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เพื่อดูแลด้านสุขภาพอนามัยแม่และเด็กของประเทศญี่ปุ่นให้มีมาตรฐาน โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของกลุ่มสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอดอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ (Seamless) รวมไปถึงเด็กตั้งแต่แรกเกิดต้องปลอดภัยได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะเห็นได้จากการนำเสนอในเรื่องของอัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์ และเด็กทารกแรกเกิดของประเทศญี่ปุ่น ในหลายๆปีที่ผ่านมาโดยนำเสนอเป็นกราฟเห็นอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพและการจัดให้บริการ  ระยะเวลา 1 เดือนเต็มที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีคุณค่าและเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิตมาก

ความยากของการไปอบรมครั้งนี้คืออะไร

กรณ์รวี : อุปสรรคสำคัญของการอบรมในครั้งนี้ คือเรื่องของภาษาอังกฤษ หลักสูตรการเรียนการสอนครั้งนี้เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ สถานที่ดูงานส่วนใหญ่จะสื่อสารภาษาญี่ปุ่นซึ่งจะมีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกครั้ง  อีกทั้งผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่มาจากตัวแทนของระบบสาธารณสุขของรัฐบาลซึ่งสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง มีเพียงประเทศไทย ที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนตัวก็จะพยายามกลับไปพัฒนาทักษาภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น

อุทัยวรรณ: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราไม่ได้เก่งมากเรื่องภาษาอังกฤษ หากเปรียบประเทศอื่นๆที่เข้าร่วมอบรม ประเทศอื่นบางประเทศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ทำให้ในการใช้ชีวิตสำหรับการอบรมตลอดระยะเวลา 3 อาทิตย์ ทำให้เราต้องใช้ความพยายามสูงมากๆ  ซึ่งการอบรมมีรู้แบบเน้นการมีส่วนร่วมซึ่งต้องเสนออภิปรายแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ความพยายามก็ทำให้เราก้าวผ่านไปได้ด้วยดี จากนี้ต้องพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปสำหรับทักษะภาษาอังกฤษเพราะมีความสำคัญมาก

อนามัยแม่และเด็กสำคัญยังไง

กรณ์รวี ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อยและด้อยคุณภาพ ถึงแม้อัตราตายของมารดาและทารกของไทยไม่ได้เป็นปัญหาหลักของระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน แต่การพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เด็กเกิดน้อยมาก อันจะส่งผลต่อโครงสร้างของประชากร ประชากรวัยแรงงานในอนาคตลดลง แต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตได้  สวท เป็นองค์กรที่ทำงานสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ทำงานกับทุกกลุ่มประชากร โดยไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ วัย นอกจากการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมแล้ว การพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก จึงจำเป็นและต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อให้ในอนาคตประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพ และวัยแรงงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศเกิดการพัฒนา

อุทัยวรรณ: เรียกได้ว่าเป็นรากฐานแรกของชีวิต ทั้งในแง่สุขภาพ  แง่ประชากรศาสตร์ แง่ความมั่นคง เหมือนการนับ 1 ถึง 10 งานอนามัยแม่และเด็กคือการเริ่มหัดนับ 1 เพื่อไปให้ได้ถึง 10 หากไม่ตระหนักถึงความสำคัญของงานอนามัยแม่และเด็ก เราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถสร้างสมดุลประชาการได้เลย ในการทำงานสมาคมฯ หนึ่งในด่านหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยแม่และเด็ก เราเป็นส่วนสำคัญถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่เราก็ภูมิใจ ที่จะช่วยให้งานอนามัยแม่และเด็กถูกขับเคลื่อนไปในเป้าหมายที่วางไว้

มองพัฒนาการของงานอนามัยแม่และเด็กในประเทศไทยยังไงบ้าง

กรณ์รวี :ในฐานะที่ตัวเองเคยปฏิบัติงานในระบบราชการ สาธารณสุขของประเทศไทย ค่อนข้างที่จะพัฒนาและมีระบบการดูแลมารดาและทารกที่ดีได้มาตรฐานใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดในบรรดาประเทศอื่นๆที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ แต่อาจแตกต่างกันในเรื่องนโยบายการจัดสถานบริการ การจัดระบบการให้บริการและการส่งต่อผู้รับบริการ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะเน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษา และจะมีสถานบริการ คลินิก ตลอดจนโรงพยาบาลเฉพาะทางกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของชุมชน ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง อีกทั้งประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ตามความสะดวกทั้งของภาครัฐและเอกชน  โดยมีค่าบริการที่ไม่แตกต่างกัน ในส่วนของการดูแลสุขภาพของมารดาและทารก ประเทศญี่ปุ่นมีสถานพยาบาลเฉพาะทางได้แก่ Maternity Home ซึ่งให้บริการดูแลเตรียมตัวตั้งแต่ตั้งครรภ์ อาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ตลอดจนถึงการดูแลหลังคลอดทั้งมารดาและทารก โดยเน้นบรรยากาศให้อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน เน้นการคลอดธรรมชาติ โดยมีครอบครัวมาพักอยู่เป็นเพื่อนแบบอยู่บ้าน โดยมีพยาบาลผดุงครรภ์ (Midwife) เป็นผู้คอยให้การดูแล และหากเกิดการคลอดที่ผิดปกติหรือภาวะฉุกเฉินทางการคลอด สามารถนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยใช้รถฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สถานพยาบาลหรือคลินิกนั้นๆ

อุทัยวรรณ: จากการผ่านการอบรมในครั้งนี้มา ตนเองมองว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยมอันดับต้นๆ สำหรับการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก บุคลาการที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักเพื่อการขับเคลื่อน ตัวชี้วัดต่างๆอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อนาคตเป็นไปได้สูงว่าจะก้าวหน้าทัดเทียมแบบญี่ปุ่นได้  มีบางจุดที่ไทยอาจจะหนักและเหนื่อยกว่า เช่น การวางอัตรากำลังบุคลการ และดูแลในพื้นที่ห่างไกลซึ่งญี่ปุ่นทำได้ดีมีคุณภาพทั่วถึงกว่าบ้านเรา

ถ้าให้เปรียบเทียบเรื่องแม่และเด็กของไทยกับญี่ปุ่นมีความต่างยังไง

กรณ์รวี :ระบบการดูแลแม่และเด็กของญี่ปุ่น จะเน้นการป้องกันในระดับปฐมภูมิและระดับชุมชน เข้าถึงง่ายทั้งระบบของรัฐและเอกชน (ค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกันและเข้าสู่ฐานข้อมูลเดียวกัน) เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชุม มีสถานบริการสุขภาพแยกชัดเฉพาะทาง  เน้นการป้องกันและตรวจสุขภาพทุกช่วงวัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็กแยกต่างหากไม่รวมอยู่กับโรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดของการไปรอรับบริการที่โรงพยาบาล ในส่วนของความแตกต่างอีกเรื่องอาจจะเป็นในเรื่องของการเข้าถึงระบบบริการหญิงตั้งครรภ์ สามารถเลือกรับบริการสถานบริการได้ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน โดยมีค่าบริการที่ไม่แตกต่างกันมาก อีกทั้งการพัฒนางานแม่และเด็กของญี่ปุ่นมักจะทำอย่างต่อเนื่องและยาวนานไม่เปลี่ยนนโยบายการพัฒนา หรือเปลี่ยนเรื่องที่จะพัฒนาบ่อยๆ จนกว่าจะได้ best Practice ของเรื่องนั้นๆ โดยยึดหลักการหมุนวงล้อ PDCA (Plan, Do, Check, Action)

อุทัยวรรณ: ต่างอยู่บ้างเรื่อง การวางโครงสร้างการให้บริการ การวางอัตรากำลัง จำนวนประชากรเมื่อเทียบกับจำนวนสถานบริการที่ให้บริการ  อัตราการเกิด สวัสดิการที่ได้รับของประชากร ทางญี่ปุ่นโดยรวมแล้วบริหารจัดการได้ดี

อนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ห่างไกลจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

กรณ์รวี : อนามัยแม่และเด็กจำเป็นต่อการพัฒนาประชากรในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงบริการได้ยาก การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน การเดินทางไปรับบริการฝากครรภ์แต่ละครั้งใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความเครียด อาจเกิดอุบัติเหตุรถตกหลุม เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรืออาจแท้งบุตรได้ ประกอบกับประชากรในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่สื่อสารกันด้วยภาษาท้องถิ่น การทำงานในพื้นที่จึงจำเป็นต้องพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนที่สามารถสื่อสารภาษาประจำถิ่นได้ สื่อความรู้ต่างๆจำเป็นต้องเป็นภาษาถิ่นเช่นเดียวกัน การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นระบบน่าจะช่วยให้งานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ประสบความสำเร็จได้

อุทัยวรรณ: มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าไปให้บริการแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล สำหรับประชากรในพื้นที่ห่างไกลการเข้าถึงการให้บริการของงานอนามัยแม่และเด็กของทางภาครัฐได้อย่างค่อนข้างลำบาก  และงานอนามัยแม่และเด็กเองจะพัฒนาได้อย่างดีก็ต่อเมื่อพัฒนาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง   ซึ่งส่งผลต่อตัวชี้วัดต่างๆและที่สำคัญที่สุดคือ สุขภาพที่ดีของประชากร เริ่มต้นด้วยการมีสุขภาพที่ดีจากการได้รับบริการสุขภาพด้านอนามัยแม่และเด็กในจุดเริ่มต้นของชีวิตและทุกๆช่วงวัยของชีวิต

ความรู้ที่ได้รับในการอบรมจะนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านเรายังไงบ้าง

กรณ์รวี : การนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดกับงานประจำของ สวท ในเรื่องเกี่ยวกับ การพัฒนาคลินิกเวชกรรม สวท ให้เป็นคลินิกที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น (Youth Respectful Clinic ) การปรับปรุงคลิกให้สอดคล้องกับความเป็นวัยรุ่น ตลอดจนการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ห่างไกลผ่านการโครงการต่างๆของ สวท โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อพัฒนางานของ สวท กับนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพของประเทศไทย

อุทัยวรรณ: ด้วยในบริบทการทำงาน ภายใต้งาน สวท ส่วนงานคลินิก เวชกรรม  สามารถนำความรู้ที่ได้รับในการอบรมในครั้งนี้มาประยุกต์ใช้ได้กับหน้างานที่ดูและทั้ง เด็ก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ ประชากรวัยเจริญพันธุ์  โดยเน้นส่วนการให้ความรู้และคำปรึกษา การวางแผนกลยุทธ์ การริเริ่มการทำโครงการกับประชากรกลุ่มพื้นที่ห่างไกล  งานอนามัยแม่และเด็กถือเป็นหนึ่งในงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่สำคัญ เพราะหากเด็กที่เกิดมีคุณภาพการพัฒนาประเทศก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย

อยากฝากอะไรถึงโอกาสที่ได้รับในครั้งนี้

กรณ์รวี ขอขอบคุณ JICA Thailand,  JICA Japan และ JOICFP ที่ให้โอกาส สวท ในการเข้าร่วมการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ถึงแม้งานของ สวท จะยังไม่ได้มีงานด้านแม่และเด็กที่เป็นรูปธรรมมากนัก จะมีสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมของโครงการต่างๆ แต่ความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานคลินิก และการพัฒนางานโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัยรุ่นและด้านอนามัยแม่และเด็ก อีกทั้งจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านแม่และเด็กในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยต่อไป

อุทัยวรรณ  อยากขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน JICA ผู้ประสานงานทุน (คุณสมศรี )  ทีมงานผู้ให้การดูแล อาจารย์ที่ดูแลทุกท่านรวมถึงท่านอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงได้ในที่นี้ทั้งหมด   ขอบคุณที่มอบโอกาสให้คนๆหนึ่ง ได้รับโอกาสอันแสนวิเศษในการพัฒนาตนเอง ดิฉันเองจะใช้ความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการให้บริการงานคลินิก และงานอื่นๆที่สามารถดำเนินงานได้ในฐานะ ผู้ผ่านการอบรมงานอนามัยแม่และเด็กจากทาง JICA  ตัวดิฉันเองจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนงานแม่และเด็กให้พัฒนาต่อไปได้ตามเป้าหมายของประเทศที่วางไว้

การพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กของประเทศญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อาจจะถึงเวลาที่บ้านเราต้องมีนโยบายการส่งเสริมการเกิดและเจริญเติบโตอย่าง ภายใต้การบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังของท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด การฝากครรภ์คุณภาพ การส่งเสริมมาตรฐานหรือคุณภาพของห้องคลอด คลินิกการผดุงครรภ์ ที่ปลอดภัย อบอุ่น มีมาตรฐาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการตั้งครรภ์และการคลอดที่มีประสิทธิภาพ อนามัยแม่และเด็กนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานด้านการพัฒนาคุณภาพประชากร และเป็นความท้าทายของ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯที่จะขยายงายด้านอนามัยแม่และเด็ก เติมเต็มการทำงานของภาครัฐในพื้นที่ห่างไกลและถิ่นธุรกันดาร ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกัน  

TAGS

คลังความรู้

การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จากร…
ยุติการตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ (ยังมีเลือดไหลอยู่) หมอ การฉีดวัคซีนไม่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากเลือดยังไหลไม่หยุดเก…

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อช่วยให้การทำงานหลักของเว็บไซต์ใช้งานได้ รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยต่าง ๆ ของเว็บไซต์ หากไม่มีคุกกี้นี้เว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และจะใช้งานได้โดยการตั้งค่าเริ่มต้น โดยไม่สามารถปิดการใช้งานได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ในส่วนวิเคราะห์ จะช่วยให้เว็บไซต์เข้าใจรูปแบบการใช้งานของผู้เข้าชมและจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งาน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการใช้งานของผู้ใช้งาน
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ในส่วนการตลาด

    คุกกี้ในส่วนการตลาด ใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมผู้เข้าชมเว็บไซต์เพื่อแสดงโฆษณาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละรายและเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการโฆษณาสำหรับผู้เผยแพร่และผู้โฆษณาสำหรับบุคคลที่สาม

บันทึกการตั้งค่า