มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งตัวร้ายอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตหญิงไทย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อ HPV ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงกว่าร้อยละ 70 คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 โดยเรามักได้ยินคำแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 9-26 ปี และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไปฉีดวัคซีน HPV ตัวนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับวัคซีน HPV วันนี้เราจึงขอรวบรวมมาไขข้อข้องใจกันทีละเรื่อง
- วัคซีน HPV คืออะไร
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผลิตจากโปรตีนที่เปลือกหุ้มเชื้อไวรัส ปัจจุบันที่นิยมมีอยู่ 3 ชนิด คือ
- ชนิดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Cervarix ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%
- ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Gardasil ป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ
- ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) มีชื่อการค้าว่า Gardasil 9 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เพิ่งรับรองประสิทธิภาพวัคซีนตัวนี้ โดยสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดได้ประมาณ 90% รวมทั้งป้องกันมะเร็งทวารหนักได้ประมาณ 80%
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้วัคซีน HPV เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนพื้นฐานในประเทศที่มีงบประมาณเพียงพอ ควบคู่กับมาตรการป้องกันมะเร็งปากมดลูกวิธีอื่น ๆ ด้วยสำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรีให้กับนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นวัยเหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีนนี้แล้ว โดยเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2560
- วัคซีน HPV ต้องฉีดกี่เข็ม
ต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มภายในระยะเวลา 6 เดือน คือ
- ครั้งที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด
- ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน
- ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้วัคซีนจะมีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อหลังฉีดครบ 3 เข็มไปแล้ว 1 เดือนโดยมีข้อมูลว่า 10 ปีหลังการฉีดวัคซีน ร่างกายยังคงมีภูมิคุ้มกันสูงพอจะป้องกันโรคได้ และจากการคำนวณด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรต้องติดตามข้อมูลจากหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดต่อไป
- ฉีดวัคซีน 2 เข็มแทน 3 เข็มได้จริงไหม
ถ้าลองเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องวัคซีน HPV อาจพบว่ามีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV 2 เข็มแทน 3 เข็มได้ ซึ่งหากถามว่าจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่า 3 เข็มหรือไม่นั้น นศภ.สุธิกานต์ เดชพรประทีป ได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า มีหลายการศึกษาในต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าการให้วัคซีน HPV แบบ 2 เข็ม น่าจะเพียงพอในผู้หญิงที่อายุยังน้อย โดยแนะนำให้ใช้ในผู้หญิงอายุ 9-14 ปีเท่านั้น ซึ่งเข็มที่ 1 ฉีดในวันที่กำหนดเลือก และหลังจากนั้นอีก 6 เดือน จึงค่อยฉีดเข็มที่ 2 ส่วนคนที่อายุมากกว่า 14 ปี ควรต้องฉีด 3 เข็มตามปกติ
- วัคซีน HPV ต้องฉีดที่ส่วนใดของร่างกาย
ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นแขนหรือกล้ามเนื้อสะโพกเหมือนการฉีดยาทั่วไป โดยวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด แล้วภูมิคุ้มกันจะไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อนจะออกจากกระแสเลือดในรูปของมูกและสารคัดหลั่งที่ปากมดลูกและช่องคลอด จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อวัยวะเหล่านี้ได้
- ฉีดวัคซีน HPV อายุเท่าไรดีที่สุด
โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีดก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและรอยโรคที่จะเกิดตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งองค์การอาหารและยาของอเมริกาได้แนะนำให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ขวบก็ได้ เนื่องจากเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี
- ถ้าอายุเกิน 26 ปีไปแล้ว จะยังฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่
หากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถฉีดได้ แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear Test) เพื่อหาเชื้อ HPV ก่อน
- ก่อนฉีดวัคซีน HPV ต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนไหม ในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อ HPV น้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก็ฉีดได้เลย แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจหาเชื้อก่อน เพราะถ้าได้รับเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว วัคซีนนี้จะไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องฉีด
- เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วจะฉีดวัคซีนได้ไหม
หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังฉีดวัคซีนได้ แต่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วยังอาจไม่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน
9.ใครไม่ควรฉีดวัคซีน HPV
- หญิงมีครรภ์ แต่หากพบว่าตั้งครรภ์ขณะกำลังได้รับวัคซีนแต่ยังฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือต่อในช่วงหลังคลอด
- ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์
- ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยแพ้ หรือมีภาวะไวเกินหลังจากการฉีดวัคซีนครั้งแรก สำหรับคนที่มีอาการไข้หวัด หากเป็นหวัดเล็กน้อย สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่หากมีไข้สูง หรือมีโรคประจำตัวกำเริบ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน
10. วัคซีน HPV ในผู้ชายฉีดได้ไหม
ผู้ชายก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ เพราะแม้จะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่หากไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีเชื้อ HPV แล้วได้รับเชื้อมา ก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคู่นอนคนอื่นได้เช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งในเพศหญิงและเพศชายบ้างแล้ว เช่น องค์กรควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้เด็กชายอายุ 11-12 ปี ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก
ขณะที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 ก็มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปี (ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6)
11. วัคซีน HPV ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง
จริง ๆ แล้ววัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง แต่ในบางคนอาจได้รับผลข้างเคียงคล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เป็นไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่รุนแรง และจะหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วันแต่อย่างไรก็ตามอาจมีบางคนได้รับผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น แพ้ยา มีภาวะทางระบบประสาท ซึ่งพบได้ในจำนวนน้อย หากใครฉีดมาแล้วมีอาการเวียนหัว หน้ามืด ใจเต้นแรง รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ควรรีบพบแพทย์ทันที
12. ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้หรือไม่
วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประเภทอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ HPV ได้ เช่น โรคเริม ตกขาวจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ แต่หากฉีดชนิด 4 สายพันธุ์ หรือ 9 สายพันธุ์ จะช่วยป้องกันโรคหูดได้ อย่างไรก็ตาม หากมีรอยโรคก่อนมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด ควรรักษาให้หายก่อน จึงค่อยฉีดวัคซีน
13. หลังฉีดวัคซีนแล้วจะมีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม
สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใส่ถุงยางอนามัย จนกระทั่งฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน เพราะความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม
14. ฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่หรือไม่
แม้จะฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว ยังจำเป็นต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามแพทย์นัด เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ และอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ แต่วัคซีนนั้นป้องกันได้เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น จึงควรตรวจคัดกรองอยู่เสมอ
15. วัคซีน HPV ราคาเท่าไร
ในปัจจุบันวัคซีน HPV ยังมีราคาสูงอยู่เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ป้องกันโรค คือโดยเฉลี่ยเข็มละ 2,000-4,000 บาท ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งจัดเป็นแพ็กเกจ ฉีด 2 เข็ม (สำหรับเด็กอายุ 9-14 ปี) ในราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท หากฉีด 3 เข็ม (สำหรับคนอายุเกิน 14 ปี) ในราคาประมาณ 6,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวัคซีนชนิดกี่สายพันธุ์ แต่หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ลองสอบถามค่าบริการได้จากแผนกสูตินรีเวชของโรงพยาบาลที่เราสะดวกเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของแต่ละโรงพยาบาล
วัคซีน HPV เปรียบเสมือนเป็นด่านป้องกัน ที่จะช่วยให้สาวๆปลอดภัยจากการเป็นมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ไปฉีด ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ .
ข้อมูลจาก
รศ.ร.อ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ ร.น. หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.ศิริราช/ กรรมการ รายการรั้วรอบครอบครัวสัญจร