ย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ในช่วงที่ยังมีความขัดแย้งทางความคิด รัฐบาลยังไม่เห็นความจำเป็นในการมีนโยบายประชากรและความสำคัญของการวางแผนครอบครัว ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกที่เข้ามาศึกษาความเหมาะสมซึ่งเป็นพื้นฐานของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจว่า การเพิ่มจำนวนของประชากรไทยในอัตราที่สูงก่อให้เกิดปัญหาน่าวิตก เช่น การขาดแคลนโรงเรียน การขาดแคลนบริการสาธารณสุข ตลอดจนที่อยู่อาศัย
จนคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ นักธุรกิจ ซึ่งสนใจปัญหาประชากร ได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลืองานของรัฐบาลทางด้านการชะลออัตราการเพิ่มของประชากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ พลเอก เนตร เขมะโยธิน เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จึงมีดำริที่จะก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย หลังจากที่ได้ประชุมกาชาดสากลที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ศาสตราจารย์ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ได้ประสานต่อไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเจรจากับสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) เรื่องการก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้เป็นหน่วยงานอิสระและพร้อมที่จะเป็นสมาชิกของ IPPF โดยให้หลักการทำงานของสมาคมว่าจะยึดถือสถานการณ์และความเหมาะสมของประเทศเป็นสำคัญ คณะผู้บุกเบิกในยุคแรกนี้มีความริเริ่มที่จะเผชิญกับการทำงานท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างและแสดงตนเป็น “หน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านการวางแผนครอบครัว” ที่เป็นองค์กรของไทยอย่างเต็มตัว แม้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานมากมาย
จากการก่อร่างสร้างตัวอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 คณะผู้บุกเบิกได้ดำเนินงานจนสำเร็จ และจดทะเบียน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2513 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกหรั่ง กันตารัติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมกันนั้นยังได้กราบบังคมทูลขอให้สมาคมฯ อยู่ ภายใต้องค์ราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของสมาคมฯ พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินงานวางแผนครอบครัว โดยบูรณาการกับงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด สมาคมฯ ได้น้อมรับแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติงานในอีกหลาย ๆ โครงการ ต่อมาพระองค์ท่านได้พระราชทาน “เงินก้นถุง” ให้กับสมาคมฯ ในการดำเนิน “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตหาดกวน” ซึ่งเป็นพระกรุณาธิคุณและแสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงเข้าพระทัยในปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะในเรื่อง การอยู่ดี กินดี ที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับงานการวางแผนครอบครัว
ปี พ.ศ. 2518 สมาคมฯได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในงานด้านประชากรที่ช่วยเหลืองานด้านนี้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้สมาคมฯ ดำเนินงานด้านนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจาก IPPF ให้การสนับสนุนงบประมาณและเวชภัณฑ์ในการดำเนินงาน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย เป็นต้น ซึ่งยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยขณะนั้น
ปัจจุบัน สมาคมฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซอยวิภาวดีรังสิต 44 กทม. มีศูนย์ให้คำปรึกษาและคลินิกเวชกรรม บริการวางแผนครอบครัว จำนวน 9 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ การดำเนินงานในยุคใหม่นี้ยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ ดำเนินงานด้วยวิถีของอาสาสมัคร ไม่แสวงหากำไร ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์เฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
โดย 1.เชื่อมั่นในการดำเนินงานตามวิถีทางประชาธิปไตย ตามหลักธรรมาภิบาล โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างของสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา และมิติหญิง-ชาย 2. เชื่อมั่นว่าสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ 3. การวางแผนครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน 4. เชื่อมั่นว่าเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชน รัฐบาล และองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศเป็นกลไกนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ 5. เชื่อมั่นว่าความสมดุลของจำนวนประชากรกับทรัพยากรธรรมชาติ ความสามารถในการผลิต และการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความผาสุก ความเจริญทางเศรษฐกิจ และสันติสุขของมวลมนุษย์
ตลอดระยะการทำงานเพื่อสังคมมากว่า 53 ปี สมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทยทุกเพศทุกวัยและทุกพื้นถิ่น ให้มีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์พร้อม ด้วยวิถีของอาสาสมัคร อย่างแข็มแข็งและไม่หยุดยั่ง เพราะเราเป็นที่พึงพิงในยามยาก
เรื่องภาพโดย ปนัฐพงศ์ นรดี