เรียบเรียง ปนัฐพงศ์ นรดี
ย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ในช่วงที่ยังมีความขัดแย้งทางความคิด รัฐบาลยังไม่เห็นความจำเป็นในการมีนโยบายประชากรและความสำคัญของการวางแผนครอบครัว ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกที่เข้ามาศึกษาความเหมาะสมซึ่งเป็นพื้นฐานของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจว่า การเพิ่มจำนวนของประชากรไทยในอัตราที่สูงก่อให้เกิดปัญหาน่าวิตก เช่น การขาดแคลนโรงเรียน การขาดแคลนบริการสาธารณสุข ตลอดจนที่อยู่อาศัย
จนคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ นักธุรกิจ ซึ่งสนใจปัญหาประชากร ได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลืองานของรัฐบาลทางด้านการชะลออัตราการเพิ่มของประชากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ พลเอก เนตร เขมะโยธิน เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จึงมีดำริที่จะก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย หลังจากที่ได้ประชุมกาชาดสากลที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ศาสตราจารย์ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ได้ประสานต่อไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเจรจากับสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) เรื่องการก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้เป็นหน่วยงานอิสระและพร้อมที่จะเป็นสมาชิกของ IPPF โดยให้หลักการทำงานของสมาคมว่าจะยึดถือสถานการณ์และความเหมาะสมของประเทศเป็นสำคัญ คณะผู้บุกเบิกในยุคแรกนี้มีความริเริ่มที่จะเผชิญกับการทำงานท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างและแสดงตนเป็น “หน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านการวางแผนครอบครัว” ที่เป็นองค์กรของไทยอย่างเต็มตัว แม้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานมากมาย
จากการก่อร่างสร้างตัวอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 คณะผู้บุกเบิกได้ดำเนินงานจนสำเร็จ และจดทะเบียน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2513 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกหรั่ง กันตารัติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมกันนั้นยังได้กราบบังคมทูลขอให้สมาคมฯ อยู่ ภายใต้องค์ราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของสมาคมฯ พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินงานวางแผนครอบครัว โดยบูรณาการกับงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด สมาคมฯ ได้น้อมรับแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติงานในอีกหลาย ๆ โครงการ ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2530 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี สมบูรณ์สุข นายกสมาคมฯ ชุดที่ 8 (พ.ศ. 2528-2531 ) ได้นำคณะกรรมการ พร้อมด้วยผู้บริหาร เข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร พระองค์ทรงเห็นความทุกข์ยากของประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะการอยู่ดี กินดี ที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับงานการวางแผนครอบครัว จึงได้พระราชทาน “เงินก้นถุง” ให้กับสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ในการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตหาดกวน” ซึ่ง สมาคมฯ ได้ดำเนินงานเพื่อถวายพระองค์ เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ และแสดงเจตจำนงของสมาคมฯในการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ หมู่บ้านหาดกวน ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพระกรุณาธิคุณและแสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงเข้าพระทัยในปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะในเรื่อง การอยู่ดี กินดี ที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับงานการวางแผนครอบครัว
ปี พ.ศ. 2518 สมาคมฯได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในงานด้านประชากรที่ช่วยเหลืองานด้านนี้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้สมาคมฯ ดำเนินงานด้านนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจาก IPPF ให้การสนับสนุนงบประมาณและเวชภัณฑ์ในการดำเนินงาน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย เป็นต้น ซึ่งยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยขณะนั้น
ปัจจุบัน 2567 สมาคมฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซอยวิภาวดีรังสิต 44 กทม. มีศูนย์ให้คำปรึกษาและคลินิกเวชกรรมบริการวางแผนครอบครัว จำนวน 9 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ มีสถานดูแลผู้สูงอายุบ้านหอมลำดวน ที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุสนองนโยบายของภาครัฐ มีนวัตกรรมในการดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยผ่านการรักษาผ่านแพทย์ทางไกล พร้อมกับแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุคสมัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2566-2571) ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลและการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ตามสิทธิอย่างเสมอภาค
การดำเนินงานในยุคใหม่นี้ยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ ดำเนินงานด้วยวิถีของอาสาสมัคร ไม่แสวงหากำไร ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์เฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ประกอบด้วย 1. วิถีทางประชาธิปไตย ตามหลักธรรมาภิบาล 2. วิถีอาสาสมัครที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญต่องานด้านอนามัยเจริญพันธุ์โดยรวม 3. การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศรวมถึงการวางแผนครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน 4. เครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นกลไกการขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ 5. ความสมดุลของจำนวนประชากร จะนำไปสู่ความผาสุก ความเจริญทางเศรษฐกิจ และสันติสุขของมวลมนุษย์
โดยมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ “เป็นองค์กรผู้นำ แห่งการเรียนรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศ ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างยั่งยืน”
พันธกิจ: I – 4P – V – S
• Information ให้ข้อมูลความรู้
• Promotion ส่งเสริมและสนับสนุน
• Protection ปกป้องและคุ้มครอง
• Prevention ป้องกันและแก้ปัญหา
• Partnership ร่วมมือ
• Volunteers สนับสนุนอาสาสมัคร
• Self-sufficiency พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ค่านิยมองค์กร PPAT
Passion วิถีอาสาสมัคร
Powerful พลังความร่วมมือ
Achievement ความสำเร็จ
Trust ความเชื่อมั่น
โดยมีคณะกรรมการ สมาคมฯ สมัยที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2564 – 2568 ซึ่งได้อุทิศตนขับเคลื่อนการทำงานด้วยวิถีของอาสาสมัครอย่างเสียสละ ประกอบด้วย
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย นายกสมาคมฯ
2. นายอนุกูล ปีดแก้ว อุปนายกสมาคมฯ
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมฯ
4.นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ เหรัญญิกสมาคมฯ
5.นางสาวดัชนียา รัตนศิริ นายทะเบียน/กรรมการเยาวชน
6.รองศาสตราจารย์ ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ กรรมการ
7.แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร กรรมการ
8.นางสาวศิริจันทรา พลกนิษฐ กรรมการ
9.นางอามีเน๊าะ หมีดเส็น กรรมการ
10.ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรพงศ์ ภู่พงศ์ กรรมการ
11.นายวิเชียร เนียมน้อม กรรมการ
12.นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง กรรมการ
13.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สัญญา ภัทราชัย กรรมการ
14. นางสาวอินทรดารา เชื่องดี กรรมการเยาวชน
15.นายปรเมศวร์ มณีรัตน์ กรรมการเยาวชน
16.นายสุขสดชื่น สุขสมจิตร กรรมการเยาวชน
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กว่า 54 ปี สมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทยทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติศาสนา ทั่วถิ่นไทย ให้มีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์พร้อม อย่างเข้มแข็งและไม่หยุดยั่ง ภายใต้พระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยวิถีของอาสาสมัคร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทยต่อไป