ไวรัส HPVเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยมีไวรัส HPV กว่า 40 ชนิดที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักได้ เชื้อ HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด แต่ละสายพันธุ์จะก่อให้เกิดโรคได้ต่างชนิดกัน โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก
HPVเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ทั้งหญิงและชายหากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ทุกทาง ซึ่งสามารถติดต่อและก่อให้เกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ในผู้หญิงก่อให้เกิดมะเร็งช่องคลอด, อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และทวารหนักได้ ส่วนในผู้ชายสามารถก่อให้เกิดมะเร็งที่องคชาติได้เช่นกัน และยังพบว่าเด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกันหากมารดามีเชื้อนี้อยู่
โรคจากการติดเชื้อ HPV หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) มะเร็งเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย หรือ มะเร็งองคชาต และโรคมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น
อาการสำคัญของผู้ติดเชื้อ HPV
1. มีตกขาวมากกว่าปกติ
2. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
3. ประจำเดือนมาผิดปกติ
4. มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
5. มีอาการแสบร้อน คัน หรือตึงบริเวณที่มีการติดเชื้อ
6. มีเลือดออกจากช่องคลอด
7. เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ
8. กรณีเป็นหูดหงอนไก่ จะพบตุ่มเนื้องอกเล็ก ๆ บริเวณปากช่องคลอด หลาย ๆ ตุ่ม ไม่มีอาการเจ็บ
การรักษาเมื่อติดเชื้อ HPV ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการรักษาใดที่จะสามารถรักษาหรือกำจัดเชื้อ HPV ออกจากร่างกายได้ทั้งหมด มีเพียงการนำส่วนที่ติดเชื้อออกไปเท่านั้น ซึ่งวิธีการผ่าตัดนำชิ้นส่วนที่ติดเชื้อ HPV ออกไปนั้นก็ยังไม่สามารยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาเกิดโรคซ้ำได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HPV นั้นสามารถหายได้เองในปีแรกไดัถึง 70% และหายไปเกือบ 90% ในปีถัดมา
วิธีการดูแลตัวเอง เมื่อติดเชื้อ HPV
1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
3. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ
4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ
5. พบแพทย์เมื่อมีโรคหูดหงอนไก่
การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV
1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
2. รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์
3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
4. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้
5. การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
6. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
ขอบคุณข้อมูลจากกระปุกดอทคอม