เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ สวท ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าจะมีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่ สวท ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ โดยยึดหลักการทำงานที่สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรม หลักศาสนาในท้องถิ่น และความต้องการ ที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
1. โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีหม้ายในจังหวัดนราธิวาส (O1/03/16)
สวท มุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวสตรีหม้ายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – ธันวาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณดำเนินงานโครงการจากอาจารย์เฉิดโฉม จันทราทิพย์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผ่าน ศ.กิตติคุณ นพ.ดำรง เหรียญประยูร และมูลนิธิวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย
โดยสวท ได้ร่วมกับสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย และสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส จัดอบรมเสริมทักษะการทำน้ำ EM ขยาย และ EM อเนกประสงค์แก่แกนนำกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากอำเภอรือเสาะ อำเภอสุไหงโกลก อำเภอบาเจาะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง และกลุ่มผู้นำมุสลีมะห์จังหวัดนราธิวาส รวมถึงเจ้าหน้าที่สวท สำนักงานโครงการจังหวัดปัตตานี ติดตามการทำน้ำ EM ขยาย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พบว่า สมาชิกกลุ่มสตรีและเพื่อนบ้านในชุมชน ได้นำน้ำ EM ขยาย และ EM อเนกประสงค์ ไปใช้ทำความสะอาดจาน ชาม ทำความสะอาดห้องน้ำ เทลงในโถส้วมขจัดกลิ่นเหม็น เทราดน้ำขังบริเวณบ้าน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
2. โครงการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (O3/03/16)
สวท ได้สร้างเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการให้บริการคุ้มครองป้องกันผู้ที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานข้ามชาติและครอบครัวในอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่องท่าเทียบเรือประมง จังหวัดสงขลา มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 – ธันวาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณดำเนินงานโครงการจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ในปี 2563 ได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เด็กเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กข้ามชาติก่อนเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา เป็นการสร้างโอกาส ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย โดยเน้นกิจกรรมบูรณาการ ให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ในรูปแบบเรียนรวมทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยในแต่ละครั้งครูจะแบ่งกลุ่มเด็กตามระดับความรู้ สำหรับเด็กโตจัดการเรียนการสอนในรายวิชาหลัก เด็กเล็กจัดการเรียนการสอนเสริมทักษะตามช่วงวัย และตามความสนใจของเด็ก โดยคำนึงและอยู่ภายใต้ฐานความคิดเรื่องสิทธิเด็กเป็นหลัก
นอกจากนี้ โครงการฯ ร่วมกับเด็กห้องเรียนรู้ฯ ผู้ปกครองและแรงงานประมงเพื่อนบ้าน ทำกิจกรรมปลูกผักสวนครัวในกระถางครอบด้วยลวดตาข่าย บริเวณด้านหน้าและด้านข้างห้องเรียนรู้เพื่อเด็กฯ นอกจากนี้ผู้ปกครองและแรงงานที่สนใจได้นำผักสวนครัวกลับไปปลูกที่บ้านด้วย ผลการดำเนินงานเด็กและผู้ปกครองสามารถเก็บผักเพื่อนำไปบริโภค ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำมาประกอบอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานที่ห้องเรียนรู้เด็กฯ และอีกส่วนแบ่งให้เด็ก ๆ นำกลับบ้านให้ผู้ปกครองประกอบอาหารและลดรายจ่ายในครอบครัว เมื่อเก็บเกี่ยวจนหมดจะเริ่มปลูกใหม่เพื่อไว้บริโภคต่อไป
ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในวันรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยการเดินรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ภายใต้แนวคิด COVID-19 : ปกป้องเด็กจากการใช้แรงงานเด็กตอนนี้มากขึ้นกว่าเดิม (COVID – 19 : Protect children from child labour, now than ever – 12 June 2020) และร่วมกันแสดงพลังต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เพื่อให้การจ้างงานเด็กที่ผิดกฎหมายหมดไป และสร้างความตระหนักแก่ผู้ประกอบการในการจ้างงานเด็กให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3. โครงการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของคนงานในโรงงานน้ำยางข้นและกรีดยางในสวนยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (O3/26/19)
สวท ได้ดำเนินงานกับกลุ่มคนงานไทยและเมียนมาในโรงงานน้ำยางข้น กรีดยางในสวนยางพารา และสหกรณ์สวนยางพารา รวมจำนวน 810 คน มีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพทางเพศและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดและการใช้ถุงยางอนามัย ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี/เอดส์ และเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แก่คนงานไทยและเมียนมาในโรงงานน้ำยางข้นและกรีดยางในสวนยางพารา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณจากบริษัท Reckitt Benckiser Group PLC.
กิจกรรมโครงการได้มีแต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นคณะทำงานโครงการฯ และจัดประชุมคณะทำงาน ในการได้ชี้แจงแผนงานโครงการ รวมทั้ง มีการจัดตั้ง Drop-in Center 6 แห่ง เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ และหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพ บริการวางแผนครอบครัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี มีผู้รับบริการตรวจมะเร็งปากมดลูก ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด และสารหล่อลื่น แก่คนงานไทยและเมียนมาในโรงงานน้ำยางข้นและกรีดยางในสวนยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รวมทั้ง เจ้าหน้าที่โครงการได้ร่วมกับอาสาสมัครจัดอบรมให้ความรู้อนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี/เอดส์ แก่คนงานไทยและเมียนมาในพื้นที่ ตลอดจนจัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ 8 เรื่อง (ภาษาไทยและเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการแก่อาสาสมัครและคนงานในโรงงานทำน้ำยางข้น และกรีดยางในสวนยางพาราในพื้นที่โครงการ