fbpx

การป้องกันการติดเชื้อ HIVAIDS และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

24291848_1972424776414234_3841554082219968308_o
การป้องกันการติดเชื้อ HIV/AIDS และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สวท มุ่งมั่นเสริมสร้างความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา และการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (VCT) ตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้องและปลอดภัยโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) / สาวประเภทสอง (TG) ในสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายพนักงานบริการหญิง ทั้งนอกและในสถานบริการ รวมทั้งพนักงานบริการหญิงที่เป็นคนต่างชาติและแรงงานต่างชาติ ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การเข้าถึงบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยสมัครใจ และตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

1. โครงการส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและส่งต่อเพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (O3/09/17)

สวท ตระหนักถึงการส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน 2559– ธันวาคม 2563 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอดส์ เฮลท์แคร์ (ประเทศไทย)

ในปี 2563 ได้มีการประชุมหารือวางแผนการทำงานด้านเอดส์ ระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาลเมียวดี โรงพยาบาลแม่สอด กองโรคเอดส์ฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก แม่ตาวคลินิก มูลนิธิศุภนิมิต IRC เข้าร่วมประชุม โดยมีแผนงานร่วมกัน ดังนี้

1) ให้ความรู้และบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดตาก รวมทั้งการส่งต่อเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลเมียวดี และการติดตามการกินยาต้านอย่างต่อเนื่อง

2) ให้ความร่วมมือกับเรือนจำแม่สอด ในกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ที่ยังไม่ได้รับยาต้าน ให้ได้รับยาต้านผ่านการตรวจหาการติดเชื้อกับโรงพยาบาลแม่สอด โดยโรงพยาบาลแม่สอดออกใบส่งตัวคนไข้ให้กับ สวท เพื่อนำส่งให้โรงพยาบาลเมียวดี จ่ายยาต้าน ซึ่ง สวท โดยสำนักงานโครงการแม่สอด จะนำยาต้านให้กับผู้ติดเชื้อในเรือนจำแม่สอด เนื่องจากผู้ติดเชื้อฯ ไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้ด้วยตนเอง

          นอกจากนี้ ได้จัดบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบรู้ผลเร็ว ผ่านหน่วยเคลื่อนที่และศูนย์สุขภาพชุมชนแรงงานข้ามชาติ พร้อมทั้งให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารให้บริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแก่แรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และแจกจ่ายถุงยางอนามัย รวมทั้ง ส่งต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโรงพยาบาลเมียวดี ประเทศเมียนมา

2. โครงการส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และส่งต่อเพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร (O3/12/17)

          สวท ส่งเสริมการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในประชากรกลุ่มเปราะบาง พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2559 – ธันวาคม 2563 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอดส์ เฮลท์แคร์ (ประเทศไทย)

          ในปี 2563 ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน โดยวิเคราะห์จากความชุกของกลุ่มประชากร พฤติกรรม และเครือข่ายสถานบริการที่สามารถส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบบริการในการรักษา ในแต่ละพื้นที่ โดยวิธีการนำเสนอข้อมูลจากผู้ประสานงานในแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้แทน (AHF Thailand) ร่วมกันวางกลยุทธ์ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดของโครงการฯ ที่ได้ตั้งไว้

          อีกทั้ง โครงการฯ ได้ร่วมกับแกนนำอาสาสมัคร จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แก่ MSM/TG และเยาวชน ในสถานศึกษา 3 แห่ง สถานบริการ 1 แห่ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจพอสมควร เน้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ และข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี และพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมาย และให้เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส และการใช้ถุงยางอนามัยเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย เมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้แล้ว มีบางส่วนเกิดความตระหนักจึงตัดสินใจเข้ารับการตรวจคัดกรอง

         ตลอดจนโครงการฯ ได้ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี และอาสาสมัคร จัดบริการตรวจคัดกรองฯ เคลื่อนที่ ให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้บริการปรึกษา และอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น ในสถานศึกษา และสถานบริการพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้สมัครใจเข้ารับการตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิส กลุ่ม MSM/เยาวชน และกลุ่ม FSW จากผลการตรวจพบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส โดยทุกคนได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองและได้ส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ณ สถานพยาบาลที่ผู้ติดเชื้อสมัครใจเข้ารับการรักษา/ มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในการรักษา

3. โครงการให้บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแก่กลุ่มพนักงานบริการหญิง ในจังหวัดขอนแก่น (O3/28/19)

สวท ตระหนักถึงการลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ในกลุ่มพนักงานบริการหญิงที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และเพิ่มการเข้าถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มพนักงานบริการหญิงและส่งต่อเข้าสู่บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเพื่อติดตามกลุ่มพนักงานบริการหญิงที่มีผลเลือดเป็นลบ ให้เข้ารับบริการตรวจเลือดซ้ำและยังคงสถานะผลเลือดลบต่อไป มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 – สิงหาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น

ในปี 2563 สวท อาสาสมัครโครงการ และสมาชิกเครือข่ายเพื่อนพนักงานบริการหญิงได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ชุมชน โดยเริ่มจัดทำที่อำเภอเมืองขอนแก่นและปรับปรุงข้อมูลแผนที่ชุมชนที่อำเภอเขาสวนกวาง น้ำพอง กระนวน และอุบลรัตน์ ตามลำดับ โครงการฯ ได้ข้อมูลสถานที่ตั้งของแหล่งบริการทั้ง 5 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง ประเภทของสถานบริการ เช่น คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านนวด และรวมถึงจำนวนของพนักงานบริการหญิงในแต่ละสถานบริการทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ

          ตลอดจนเจ้าหน้าที่สวท เครือข่ายเพื่อนพนักงานบริการหญิง อาสาสมัครโครงการ และแกนนำกลุ่มเป้าหมาย ได้จัดให้บริการเชิงรุกแก่กลุ่มเป้าหมายในอำเภอเมืองขอนแก่น เขาสวนกวาง น้ำพอง กระนวน และอุบลรัตน์ ในแหล่งสถานบริการต่าง ๆ 42 แห่ง เช่น คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านนวด โดยนำกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการให้การปรึกษาเพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการส่งต่อกลุ่มเป้าหมาย จากการให้บริการเชิงรุกเข้าสู่กระบวนการให้บริการที่เป็นมิตร ซึ่งสวท โดย คลินิก เวชกรรม สวท ขอนแก่น ดำเนินงานร่วมกับหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐในพื้นที่เป้าหมาย โดยความร่วมมือของเครือข่ายแกนนำพนักงานบริการหญิง พร้อมทั้งส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบผลเลือดบวก และซิฟิลิส และได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิเรียบร้อยแล้ว

4. โครงการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แก่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(O3/29/19)

สวท เห็นความสำคัญในการลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประชากรกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในประชากรกลุ่ม MSM และส่งต่อเข้าสู่บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเพื่อติดตามกลุ่ม MSM ที่มีผลเลือดเป็นลบ ให้เข้ารับบริการตรวจเลือดซ้ำและยังคงสถานะผลเลือดลบต่อไป มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 – กรกฎาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร

ในปี 2563 ได้มีการประชุมทำความเข้าใจ ชี้แจงโครงการเพื่อสร้างการยอมรับและการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการและร่วมเป็นเครือข่ายในการให้บริการเชิงรุกกับกลุ่ม MSM โดยประชุมกับผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา และแกนนำนักเรียน-นักศึกษา และให้บริการเชิงรุกในสถานศึกษาเป้าหมาย 4 แห่ง คือ วิทยาลัยวราธิปบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช ผ่านแกนนำของกลุ่มเป้าหมาย และใช้สื่อรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกมแผ่นคำเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ ฝึกปฏิบัติสวมถุงยางอนามัย รูปภาพโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น อีกทั้ง ได้แจกจ่ายถุงยางอนามัย

          รวมทั้ง ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการให้การปรึกษาเพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และแจกจ่ายถุงยางอนามัย ทั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ช่องทางอื่น ๆ ในการเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อฯ ทั้งหน่วยบริการภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ หากกลุ่ม MSM ไม่สะดวกที่จะรับบริการตามที่ได้นัดหมายไว้ โดยได้มีการส่งต่อกลุ่มเป้าหมาย เข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบมีผลเลือดบวก และได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิเรียบร้อยแล้ว

5. โครงการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แก่กลุ่มพนักงานบริการหญิง จังหวัดเชียงใหม่ (O3/30/19)

สวท มุ่งมั่นในการลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ และเพิ่มการเข้าถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรกลุ่มพนักงานบริการหญิง (FSW) ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและส่งต่อเข้าสู่บริการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้ง ติดตามกลุ่ม FSW ที่มีผลเลือดเป็นลบ ให้เข้ารับบริการตรวจเลือดซ้ำและยังคงสถานะผลเลือดลบต่อไป มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 – กรกฎาคม 2563 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่

โดยได้มีจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ และทำความเข้าใจกิจกรรมโครงการ พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถานประกอบการ อีกทั้ง สวท ได้สำรวจกลุ่ม FSW ในพื้นที่โครงการจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในสถานบริการและนอกสถานบริการ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ อ.หางดง และ อ.แม่ออน และสถานประกอบการ ในการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ เพื่อให้ความรู้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม รวมทั้ง ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาวะอนามัยของผู้หญิง ทั้งนี้ ได้มีการแจกจ่ายถุงยางอนามัย ให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส และตรวจมะเร็งปากมดลูก/ มะเร็งเต้านม/ ตรวจหาเชื้อหนองใน ทั้งนี้ สามารถติดตามให้ผู้รับบริการเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสซ้ำ (Retain) หลังจากที่เคยตรวจมาแล้วครบ 3 เดือน

6. โครงการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มพนักงานบริการหญิง จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี (O3/31/19)

สวท เน้นการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
เอชไอวี และเพิ่มการเข้าถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักและส่งต่อเข้าสู่บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเพื่อติดตามกลุ่มประชากรหลักที่มีผลเลือดเป็นลบ ให้เข้ารับบริการตรวจเลือดซ้ำและยังคงสถานะผลเลือดลบต่อไป มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562- กรกฎาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี

โดย สวท ได้ร่วมมือกับสาธารณสุขอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แกนนำอาสาสมัครในพื้นที่ดำเนินการจัดทำแผนที่ชุมชน ทั้ง 2 พื้นที่ ได้แก่ จัดทำข้อมูลสถานบริการต่าง ๆ เช่น คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านนวด ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรี จำนวนรวม 45 แห่ง เพื่อวางแผนการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่อไป ตลอดจนให้บริการเชิงรุก (Reach) แก่กลุ่มเป้าหมายพนักงานบริการหญิงจังหวัดนนทบุรี ในพื้นที่อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางบัวทอง และจังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง

          รวมทั้งบริการให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แก่กลุ่มเป้าหมาย ผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ เช่น สื่อภาพพลิก เกมส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แผ่นพับความรู้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความต้องการเข้ารับบริการ รวมถึงให้การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ถุงยางอนามัย และสารหล่อลื่น อีกทั้ง ส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบผลเลือดบวก และได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิเรียบร้อยแล้ว

Current Project

สวท ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และเพิ่มรายได้ของ สวท ที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเอง โดยการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ให้มีความรู้และทักษะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ มีการแลกเปลี่ยนและเสริมความรู้อย่างสม่ำเสมอ พัฒนาการจัดการความรู้ในองค์กร
โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข (O1/05/18) สวท เห็นความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของระบบและกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save