กรุงเทพฯ – 26 กันยายน 2567 สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมรณรงค์เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก 2567 หรือ World Contraception Day 2024 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี ภายใต้แนวคิด Empowering Choices, One Decision at a time สร้างพลังความรู้ สู่อนาคตคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจและสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสมเด็จอุปถัมภ์ สวท ซอยวิภาวดีรังสิต44 กทม.
ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทาย สะท้อนจากสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนล่าสุด ปี 2565 ของกรมอนามัย พบว่า วัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรรวมทั้งสิ้น 42,457 คน แบ่งเป็นช่วงอายุ 10-14 ปี จำนวน 1,569 คน คิดเป็นอัตรา 0.8 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี พันคน และช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 40,888 คน คิดเป็นอัตรา 21.0 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พันคน มีการคลอดซ้ำในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 3,181 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของแม่วัยรุ่นอายุ 10-19 ปีที่ตั้งครรภ์ (1)
กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี พันคน และวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 15.0 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พันคน ภายในปี 2570 (1) สิ่งสำคัญคือการทำให้วัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง รวมถึงผลกระทบสุขภาพอนามัยที่เกิดกับวัยรุ่นเองและเด็กเกิดใหม่ นอกจากนั้น การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพสำหรับผู้ที่มีความพร้อม และสนับสนุนให้เกิดการคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร เป็นเรื่องที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภาครัฐมีแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการคุมกำเนิด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการวางแผนครอบครัวรวมถึงการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราว ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย และการคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่ การทำหมันหญิงและชาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยทุกสิทธิ์การรักษา นอกจากนั้น ยังสามารถรับถุงยางอนามัย และยาเม็ดคุมกำเนิด ฟรี ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้
ด้าน ผศ.ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) กล่าวว่า การเรียนรู้วิธีการคุมกำเนิดและป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น นับเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราไม่สามารถปิดกั้นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์รอบตัว ดังนั้นจึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้วัยรุ่น นิสิต นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพราะการคุมกำเนิดมีรายละเอียดต้องทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง การเลือกใช้และประสิทธิภาพวิธีการคุมกำเนิดเป็นทางเลือกในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และช่วยป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.สุกัญญา กล่าวว่า สวท ดำเนินการรณรงค์สนับสนุนให้มีการวางแผนครอบครัว และลดปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกชีวิตของการเกิดเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
ด้าน นายแบรดลี่ย์ วิลเลี่ยมส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล กล่าวว่า หลายประเทศมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูง โดยมีการประมาณการว่า ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมีเยาวชน ในวัย 15-19 ปี ตั้งครรภ์จำนวน 21 ล้านคนทุกปี (2) บางกรณีจบลงด้วยการยุติการตั้งครรภ์ และเยาวชนอายุ 15-19 ปี ประมาณ 12.8 ล้านคน และเยาวชนอายุ 10-14 ปี กว่า 500,000 คน คลอดบุตรทุกปี (3) สำหรับไบเออร์ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการดูแลสุขภาพผู้หญิง เราเชื่อว่าการวางแผนครอบครัวที่ดีและเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความยากจนและลดปัญหาสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญคือ เยาวชนควรศึกษาข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาเภสัชกรและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ไบเออร์ได้รณรงค์ผ่านแคมเปญ Bayer For Her ให้ผู้หญิงสามารถพูดคุยเรื่องสุขภาพได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น กล้าที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะไม่พลาดทุกโอกาสสำคัญในชีวิต
สำหรับกิจกรรมวันคุมกำเนิดโลก 26 กันยายน 2567 ภายใต้แคมเปญ Empowering Choices, One Decision at a time มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
- การเสวนา Empowering Choices, One Decision at a time จากสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ และรศ.ร.อ.นพ. มานพชัย ธรรมคันโธ ร.น. ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยคุณฮาน่า ฮาอึน ชอง Influencer จากเพจ “hanazyndrome” ตัวแทนเยาวชนที่จะมาแชร์ประสบการณ์ ถ่ายทอดสดผ่านทางโซเชียลมีเดียของคลับนี้เลดี้คุม และสวท
- จัดทำข้อมูล infographic เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ถูกต้องผ่าน Facebook Page คลับนี้เลดี้คุม: https://www.facebook.com/clubneeladykhum และ TikTok คลับนี้เลดี้คุม: https://www.tiktok.com/@younglovethailand และโซเชียลมีเดียของสมาคมวางแผนครอบครัวฯ ทั้ง Facebook Page สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ และ TikTok /@ppat.official ตลอดเดือนกันยายน
- จัดทำ คู่มือรอบรู้เรื่องยาเม็ดฮอร์โมนรวมภายใน 3 นาที สำหรับเภสัชกร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการให้คำปรึกษา และแนะนำการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเพื่อให้มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้มารับบริการ ณ ร้านขายยา
ไบเออร์ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย และสวท สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ “วันคุมกำเนิดโลก” มาอย่างต่อเนื่องโดย ปีนี้นับเป็นปีที่ 17 โดยมีเป้าหมายในการให้ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดเพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ลดจำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เคารพสิทธิในตัวตนของคนรุ่นใหม่ ทำให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดี
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นางเตือนใจ คงสมบัติ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ เหรัญญิกสมาคมฯ นางสาวอินทรดารา เชื่องดี กรรมการ สมาคมฯ ดร.นันทกาญจน์ สูงสุมาลย์ วูดแฮม ผู้อำนวยการสมาคมฯ ผู้บริหารจากบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด น้องๆเยาวชนนักศึกษาจาก วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการราชดำเนิน วิทยาลัยเทคโนโลยีวิมลบริหารธุรกิจ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อบอุ่น
อ้างอิง
- กรมอนามัย
- Sully EA et al., “Adding It Up: Investing in Sexual and Reproductive Health 2019” New York: Guttmacher Institute, 2020. Available at: https://www.guttmacher.org/report/adding-it-up-investing-in-sexual-reproductive-health-2019
- United Nations Population Fund. State of World Population 2024. Interwoven Lives. Threads of Hope. Available at: https://www.unfpa.org/sites/default/files/pub-pdf/swp2024-english-240327-web.pdf
COR-UN-WHC-TH-0037-1 (09/2024)