fbpx

การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์

69448655_2453089185014455_2286688928247316480_o
สวท ยังคงดำเนินนโยบายการให้โอกาสการเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของกลุ่มประชากรทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง (กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งทางด้านสาธารณสุข และการศึกษา) ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่พักพิงชั่วคราว

1. โครงการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้และบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี          ในสถานศึกษาและในชุมชน (O2/03/17)

          สวท ได้ตระหนักถึงกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะวัยรุ่น/เยาวชนในสถานศึกษาและในชุมชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ เพศศึกษารอบด้าน และสามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงความรู้และบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดย สวท สนับสนุนรูปแบบการจัดกิจกรรมให้ความรู้เชิงรุก และเชื่อมโยงกับการให้บริการของคลินิก เวชกรรม สวท ในพื้นที่ ตลอดจนให้บริการเวชภัณฑ์คุมกำเนิดและส่งต่อผู้รับบริการและรายงานผลโดยอาสาสมัคร

         ในปี 2563 พื้นที่ภาคเหนือได้จัดประชุมครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าใจวัตถุประสงค์และกิจกรรมในโครงการ พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผลสำเร็จของงานได้แผนการดำเนินกิจกรรม เพื่อนำไปลงแผนปฏิทินในสถานศึกษา และกำหนดช่วงเวลาจัดกิจกรรมในเดือนพฤษภาคม 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้แผนงานต้องเลื่อนออกไป โครงการจึงขออนุมัติปรับแผนงาน โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่การดำเนินงานให้สอดคล้องกับพื้นที่โครงการชุมชนร่วมใจฯ ในอ.แม่อาย และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเข้าถึงจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้

         ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้ได้ประสานงานกับครูแกนนำและแกนนำนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาที่ได้ร่วมดำเนินงานโครงการ มาตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 4 แห่ง เพื่อจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้องไม่พร้อม พบว่า ในระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 เป็นช่วงระยะเวลาที่นักเรียน นักศึกษาเตรียมตัวสอบก่อนปิดเทอม ไม่สะดวกต่อการจัดกิจกรรม โครงการฯ จึงเลื่อนการจัดกิจกรรมอบรม ออกไปดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563 ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานงานกับครูแกนนำในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การสนับสนุนอุปกรณ์คุมกำเนิด อาทิ ถุงยางอนามัย

2. โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี AHF Media Award (O2/12/19)

          สวท ได้ดำเนินงานพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงทักษะการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน และเพื่อผลิตสื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 – สิงหาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณจากมูลนิธิเอดส์ เฮลท์แคร์ (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

         ในปี 2563 ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ทีมยาวชนผู้ร่วมสมัคร ได้รับความร่วมมือจากทีมวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ด้านเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความรู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย และด้านทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ผลิตสื่อบันเทิง การผลิตเนื้อหาออนไลน์ ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เยาวชน ทั้งนี้ จากผลการประเมินความรู้ก่อนและหลังการอบรม พบว่า   ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ และได้รับทักษะในการผลิตสื่อรณรงค์เพิ่มมากขึ้นและการนำวิทยากรผู้มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมกิจกรรมอบรมสามารถสร้างความน่าสนใจในการอบรมได้เป็นอย่างดี

พร้อมทั้ง มีการจัดประกวดสื่อรณรงค์ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย โดยให้ทีมที่เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 44 ทีม ส่งเค้าโครงเรื่อง และให้แต่ละทีมนำไปพัฒนาผลงานของตนเอง ผลสรุปมีทีมที่สามารถส่งผลงานเข้าประกวด จำนวน 42 ทีม ทำให้โครงการสามารถมีสื่อสำหรับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย จำนวน 42 ชิ้น หลังจากนั้น โครงการได้ทีมชนะเลิศ ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชย รวมทั้งสิ้น 6 ทีม และโครงการได้จัดงานประกาศรางวัลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตลอดจน ได้มีการเผยแพร่คลิปสั้นรณรงค์ ชุด “สวมโลกใบใหม่ให้ Condom” จำนวน 42 ชิ้นงาน ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของ AHF Thailand, PPAT และองค์กรภาคีเครือข่าย เช่น Website, Facebook, YouTube, Instagram, Twitter, Line มีจำนวนผู้เข้าถึงสื่อ จากจำนวน View, Like, Share, Comment เพื่อสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัย จากเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 จากผลการประเมินทำให้เห็นได้ว่าสื่อคลิปสั้นรณรงค์ ชุด “สวมโลกใบใหม่ให้ Condom” นั้น สามารถทำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยว่าเป็นเรื่องปกติ และส่งผลให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ

3. โครงการชุมชนร่วมใจพัฒนาอนามัยวัยรุ่นในอำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ (02/15/20)

สวท มีความมุ่งมั่นให้วัยรุ่นและเยาวชน อายุ 10-19 ปี มีความรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เห็น ความสำคัญของการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต และป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งสร้างกลไกการดูแลสุขภาพวัยรุ่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพวัยรุ่นแบบองค์รวมในสถานศึกษาและในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 – ธันวาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณดำเนินงานโครงการจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

ในปี 2563 สวท ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเรื่องสุขภาพอนามัยวัยรุ่น สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 10-19 ปี จำนวน 361 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2563 ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยขอความร่วมมือผ่านสาธารณสุขอำเภอทั้ง 2 แห่ง ในการนัดหมายกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ครูผู้สอนเพศศึกษาและเพศวิถีศึกษาทั้งในโรงเรียนในและนอกระบบ ผู้ดูแลหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอด ผู้นำชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม.สาธารณสุข แกนนำเยาวชน ด้วยวิธีสนทนากลุ่ม และแบบสำรวจเรื่องสุขภาพอนามัยวัยรุ่น สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 10 – 19 ปี

          ทั้งนี้ ได้จัดประชุมคณะกรรมการโครงการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนจากฝ่ายปกครองระดับจังหวัด/อำเภอ ผู้แทนจากสาธารณสุขระดับจังหวัด/อำเภอ ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการ จ.เชียงใหม่ ผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจาก UNICEF ผู้แทนสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ที่ประชุมเห็นชอบและสนับสนุนกลไกการดำเนินงาน ที่เชื่อมโยงบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นจากกิจกรรมเชิงรุกและส่งต่อเข้ารับบริการหน่วยบริการภาครัฐ  และรับทราบแผนงานโครงการฯและผลการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย

          ตลอดจนจัดประชุมคณะทำงานระดับอำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่อาย ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากสาธารณสุข ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการ สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชน ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม อาสาสมัคร ผู้แทนจาก UNICEF ผู้แทนสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ที่ประชุมเห็นชอบและสนับสนุนกลไกการดำเนินงาน ที่เชื่อมโยงบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นจากกิจกรรมเชิงรุกและส่งต่อเข้ารับบริการหน่วยบริการภาครัฐ และรับทราบแผนงานโครงการ และผลการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย โดยมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและเยาวชนในพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์มาก รวมถึง การขับเคลื่อน พรบ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559

Current Project

สวท ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และเพิ่มรายได้ของ สวท ที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเอง โดยการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ให้มีความรู้และทักษะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ มีการแลกเปลี่ยนและเสริมความรู้อย่างสม่ำเสมอ พัฒนาการจัดการความรู้ในองค์กร
เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ สวท ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าจะมีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่ สวท ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save