fbpx

วางแผนการเงินรับมือโควิด – 19

Stress asia couple man and woman use calculator for calculate family budget, debts, expenses during financial economic crisis at home at night. Marriage money trouble, Family budget plan concept.

คอลัมน์พันธ์กิจผลิตผล

วางแผนการเงินรับมือโควิด – 19

คุณ โจ มณฑานี ตันติสุข /กูรูด้านการเงิน

คระกรรมการที่ปรึกษา งานเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์

เรื่องเกศนีย์ นุชประมูล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา–2019 หรือโควิด–19 ยังเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วทุกมุมโลก ในส่วนของประเทศไทยการแพร่ระบาดเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 นอกจากส่งผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

บริษัท ห้าง ร้านต่าง ๆ ต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ผู้คนตกงานส่งผลต่อการใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นทันที การเตรียมพร้อมด้านการเงินจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา วันนี้ “คุณโจ มณฑานี ตันติสุข กูรูด้านการเงิน” จะมาบอกถึงวิธีการวางแผนการเงินเพื่อรับมือโควิด–19

เรื่องที่ไม่ควรประมาทคือเรื่องของการเงิน

หลายคนมองว่าโควิด–19 เป็นไวรัสล้างโลก แต่ส่วนตัวมองต่างออกไป เพราะมองว่าโควิด–19 เป็นเหมือนเสียงนาฬิกาปลุก (Wake up call) ให้กับเราเป็นเสียงที่มาเตือนว่า วันนี้เราประมาทกับการใช้ชีวิตกันหรือไม่ มีเงินออมสำรองกันบ้างหรือไม่ ซึ่งตนพูดมาตลอดว่าเราต้องมี “เงินออมสำรองเลี้ยงชีพ”

“เงินออมสำรองเลี้ยงชีพ” คือ การที่เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ เราต้องมีเงินออมสำรองไว้จำนวนเท่านั้น เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือน (ณ ที่นี้ หมายถึงค่าใช้จ่ายหลักจริง ๆ ) เดือนละ 1 หมื่นบาท เราจะต้องออมเงินให้ได้เดือนละ 1 หมื่นบาทต่อเดือน อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งการออมเงิน 6 เดือน ถือว่าเป็นไปตามหลักสากล แต่บางคนอาจจะออมไว้ 8 เดือน หรือมากกว่านั้นย่อมได้ โดยส่วนตัวคือออมไว้ 12 เดือน ซึ่งเหลือย่อมดีกว่าขาด และเป็นการออมที่ปลอดภัยที่สุด

ทำไมต้องมีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ?  

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้ เราจะเห็นว่ามีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมากจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ถ้าเราไม่มีเงินออมสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน ลองคิดกันเล่น ๆ ดูว่าชีวิตจะย่ำแย่ และต้องตกอยู่ในสภาวะความเครียดมากแค่ไหน แต่ถ้าเรามีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เรากันไว้ทุกเดือน ขอเน้นคำว่า “ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริง ต่อเดือน” สมมติว่าเราออมไว้ 12 เดือน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่คุณบังเอิญตกงาน คุณจะยังมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนไปอีก 12 เดือน แสดงให้เห็นว่าคุณมี Financial security หรือ ความปลอดภัยด้านการเงิน แต่ถ้าคุณยังไม่มีเงินส่วนนี้อย่ามาบอกว่าชีวิตคุณปลอดภัย เพราะแปลว่าคุณกำลังไม่มีความปลอดภัยด้านการเงิน

เงินออมลักษณะนี้ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น เพราะเป็นเงินออมในลักษณะฉุกเฉินเลี้ยงชีพ ที่เมื่อออมแล้วต้องสามารถนำออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ต้องเป็นเงินที่ไม่ไปจมอยู่ในตลาดหุ้นหรือการลงทุน ไม่ไปจมอยู่ในลักษณะของทอง แต่ต้องถอนได้ตลอดเวลา จะเป็นเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำแบบที่สามารถถอนได้

การออมแบบไหนที่ไม่เหมาะกับการรับมือเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน?  

เงินประกันสะสมทรัพย์เป็นรูปแบบการออมที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งกับกรณีนี้ เพราะเป็นการเอาเงินไปจมไว้ เป็นลักษณะของเงินออมระยะยาวมาก ๆ ซึ่งเงินประเภทนี้ดีสำหรับคนขาย แต่ไม่ดีสำหรับเรา เพราะเป็นเงินฝากระยะยาวเกิน 10 ปี และเงินประกันที่ได้จะเท่ากับเงินที่เราออม ดังนั้น ถ้าใครได้ยินคำว่าเงินออมดอกเบี้ยสูงให้พึงระวังไว้อย่างหนักว่านั่นคือประกัน

สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ หรือ คนที่ประกอบอาชีพลักษณะฟรีแลนซ์ ควรวางแผนด้านการเงินอย่างยิ่ง ฟรีแลนซ์จะต้องไม่มีข้ออ้างทั้งสิ้น ว่าต้องมีเงินเดือนประจำจึงจะเก็บออมได้ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่ที่นิสัยการใช้เงิน ซึ่งการออมของคนหาเช้ากินค่ำ สมมติถ้าเราเป็นลูกจ้างรายวัน วันละ 300 บาท ให้หักไว้ในการเก็บออม 20% สำหรับใครที่บ่นเสมอ ๆ ว่ารายได้น้อยยังต้องออมอีก ก็ขอให้ฝึกเป็นนิสัย ได้เงินน้อยก็ออมน้อย การฝึกนิสัยเหมือนฝึกจิตใต้สำนึก จะทำให้เราใช้เงินน้อยลงโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ตามมาคือนิสัยรักการเก็บออมเป็นประจำ

แหล่งรายได้ก็สำคัญ

เราจำเป็นต้องมีแหล่งรายได้หลายทาง เวลาที่เราวางแผนการเงิน นอกจากเราจะมีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เราต้องมีแหล่งรายได้หลายทางอย่าพึ่งพารายได้ทางเดียว ส่วนคนที่ไม่มีต้นทุน เราต้องนึกก่อนว่าเราจะทำอะไรโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนที่เป็นเงินได้หรือไม่ เช่น เรามีแรง มีคอนเนคชั่น หรืออื่น ๆ ก็ต้องคิดดูโดยที่เราต้องไม่กู้  

“ความจนทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ พอเราเจอชีวิตที่ไม่ง่าย ไม่ได้สบาย จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานโดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนมาก ดังนั้น อย่ารังเกียจความจน ความลำบาก ทำให้เราเก่ง”  

ทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทัศนคติของมนุษย์เงินเดือน คือ จะโวยไว้ก่อนว่าเงินไม่พอ ต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ได้ ว่ามีเท่าไหร่ให้ใช้ต่ำกว่ารายได้เสมอ มีร้อยใช้ร้อยแบบนี้ไม่ได้ ต้องกินอยู่ให้ต่ำกว่ารายได้ พอฝึกแล้วจะกลายเป็นเราทำได้อัตโนมัติ ถ้าที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราเข้าร่วมอยู่ในกองทุน เพราะพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกปกป้องโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ เจ้าหนี้จะยึดเงินส่วนนี้ของเราไม่ได้ สมมติเราไปกู้เงินเป็นหนี้ 3 แสนบาท เจ้าหนี้จะมาเอาเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราไปเพื่อชดใช้หนี้ไม่ได้ ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วยปกป้องเราจากเจ้าหนี้ และยังได้ผลตอบแทน 100%

โควิด–19 สอนให้เรามีวินัยและอดทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สอนให้เราอดทน เพื่อที่จะได้เป็นเงินสำหรับการใช้ชีวิตในวันที่เราไม่มีเงิน ไม่ได้ทำงาน และเจ็บป่วย เปรียบเหมือนการเกษียณตอนแก่แบบไม่ลำบาก

สรุปได้ว่าการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดแน่นอนว่าการรับมือกับโควิด–19 สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการออมเงิน และเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงแหล่งรายได้หลายทาง จะช่วยให้เราพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ที่สำคัญอีกอย่างคือเราต้องมีสติในการใช้เงิน เราต้องทำให้เงินเป็นเรื่องสนุก ทั้งการวางแผน ทำให้จิตวิทยาในตัวเราผูกพันกับเงิน รักเงิน วิธีที่เราปฏิบัติกับเงินจะเป็นกระจกสะท้อนวิธีที่เราปฏิบัติกับตัวเอง การที่เราผลาญเงินออกไปเป็นกระจกสะท้อนว่าเราไม่รักตัวเอง เพราะเงินเกี่ยวพันโดยตรงกับคุณค่าที่เรามีกับตัวเอง

คุณโจ มณฑานี ตันติสุข กูรูด้านการเงิน

TAGS

Knowledge

ยาเม็ดคุมกำเนิดจะเริ่มออกฤทธิ์ตั้งแต่การกินต่อเนื่อง 7 – 10 เม็ดขึ้นไปประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำคัญคือ ต้องไม่ลืมกิน กินตรงเวลา
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save