fbpx

“ท้องในวัยเรียน” ปัญหาใหญ่ของเยาวชนไทย

_MG_0091

คอลัมน์คนอาสา

“ท้องในวัยเรียน” ปัญหาใหญ่ของเยาวชนไทย

อาจารย์เอกตะวัน  ดอกพิกุล

ครูแกนนำเพศศึกษารอบด้านรุ่นบุกเบิกของ สวท

                                         ข้อมูล สุทน กาญจนสมรส

เรียบเรียง/ภาพ ปนัฐพงศ์ นรดี

เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ การจะห้ามแต่ละชีวิตมิให้ข้องเกี่ยวกับเรื่อง “เพศ” จึงเป็นเรื่องยาก  บทบาทของผู้คนที่รายล้อมชีวิตของเด็ก จึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องปลูกฝังสิ่งดีงามให้พวกเขาตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ คอลัมน์คนอาสาฉบับนี้จะพาทุกท่าน ไปทำความรู้จัก อาจารย์เอกตะวัน  ดอกพิกุล  ครูหนุ่ม แผนกวิชาธุรกิจสัมพันธ์ สายธุรกิจการกีฬา วิทยาลัยพณิชยการราชดำเนิน ที่เข้าร่วมเป็นขบวนการครูแกนนำเพศวิถีศึกษา ของ สวท รุ่นที่ 1 หนึ่งในครูแกนนำที่กลับไปทำหน้าที่ให้ความรู้ เพศวิถีศึกษา จนประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนการท้องไม่พร้อมในสถานศึกษาลงได้

ทำงานป้องกันการตั้งครรภ์ในกลุ่มเยาวชนกับ สวท มากี่ปี

เข้าร่วมอบรมเป็นครูแกนนำด้านเพศวิถีศึกษา กับ สวท มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556  โดยในช่วงเริ่มต้นนั้นเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสถานศึกษา ภายใต้โครงการ Friendly Corner รู้ทันไม่ท้อง ซึ่งได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันท้องไม่พร้อมร่วมกับ สวท มาโดยตลอดตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ รวมระยะเวลาที่ร่วมกันทำงานกับ สวท มา 9 ปีเต็ม

ได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่น สวท

ได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่น สวท ประจำปี 2558 รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะเป็นหน้าที่ตนเองได้รับมอบหมายจากวิทยาลัยฯ ให้ดูแลเยาวชนในเรื่องเพศวิถีศึกษา เราได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน ในชมรมเพื่อนใจวัยใส ได้ปฏิบัติตาม จนเด็ก ๆ เยาวชนได้รับรางวัลในระดับเยาวชนเช่นกัน ถือว่ารางวัลที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานกับเยาวชนต่อไป

ทำไมถึงเลือกทำงานป้องกันการตั้งครรภ์ในสถานศึกษา

ส่วนตัวมองว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในสถานศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเยาวชน 1 คน ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและยังอยู่ในวัยเรียน จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เป็นปัญหาหลายมิติ เยาวชนเองก็จะมีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็กที่เกิดมาก็อาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดี กลายเป็นปัญหาสังคม จึงคิดว่า การช่วยให้เด็กเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันเรื่องการป้องกันการท้องไม่พร้อม น่าจะเป็นการช่วยให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ประเทศชาติก็จะมีกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

วิธีการรับมือหากมีนักเรียนท้องไม่พร้อม

สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ทำ คือ การให้ความรู้เชิงป้องกันกับนักเรียนทุกระดับชั้น เพราะบทบาทของเราสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่ตกอยู่ในสภาวะล่อแหลมต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดเมื่อรู้ว่าตนเองตั้งท้อง แต่มันจะง่ายกว่าหรือไม่ ถ้าเราป้องกันไม่ให้นักเรียนกลายเป็นผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม โดยการสอนเพศศึกษาให้กับลูกศิษย์ของเราทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา สิ่งสำคัญคือไม่ซ้ำเติมเด็ก ๆ แต่ควรให้กำลังใจ ชี้ทางสว่างให้กับเด็กที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้มีทางออก อย่าตัดอนาคตของเยาวชนเพียงเพราะท้องไม่พร้อม วิธีการของเรา คือ ให้เปลี่ยนเวลาเรียน หรือให้เรียนที่บ้านแทน

ให้คำแนะนำยังไงบ้างถ้ามีนักเรียนอุ้มท้องมาปรึกษา

นักเรียนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง บทบาทของครูสิ่งที่ต้องทำ คือ พูดคุยกับนักเรียนที่ประสบปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น พร้อมกับเชิญผู้ปกครอง มาร่วมกันแก้ไขปัญหาตามลำดับ โดยครูจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ  เช่น สถานภาพการเรียนเป็นอย่างไร สิทธิตาม พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อม เป็นยังไง รวมถึงการแนะนำสถานที่ฝากครรภ์ให้กับผู้ปกครอง  ซึ่งเป็นการช่วยกันระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง เมื่อนักเรียนพลาดไปแล้วเราไม่ควรซ้ำเติม แต่ควรให้โอกาสและให้ชีวิตใหม่กับนักเรียนของเรา 

ก่อนกับหลังมี พรบ.ท้องไม่พร้อมฯ ต่างกันหรือไม่

สมัยที่ยังไม่มี “พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ. 2559” หากมีเด็กนักเรียนท้องไม่พร้อม นักเรียนมักจะต้องถูกเชิญให้ออกจากการเป็นนักเรียน  แน่นอนว่าเมื่อนักเรียนซึ่งมีวุฒิภาวะไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว ไม่พร้อมที่จะมีลูก ต้องถูกทอดทิ้งจากสถานศึกษา และต้องออกไปเผชิญกับชะตากรรมเพียงลำพัง ต้องประสบกับปัญหาชีวิตในหลายๆด้าน ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับเด็กที่เกิดมา ส่งผลเสียกับสังคมในหลายๆมิติ แต่หลังจากมี “พรบ.ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ไม่พร้อมฯ” นักเรียนที่ท้องไม่พร้อม สามารถเรียนต่อได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือในหลายๆด้าน ถ้าทำได้จริงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก  

หลังจากให้ความรู้ป้องกัน  ปัญหาท้องไม่พร้อมดีขึ้นบ้างมั้ย

หลักจากได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายรณรงค์ป้องกันท้องไม่พร้อมกับ สวท  ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งได้มีกิจกรรมจัดในสถานศึกษามากมาย ควบคู่กับการให้ความรู้แบบกลุ่มใหญ่ หน้าเสาธง และแบบกลุ่มย่อยตามห้องเรียน และยังมีกิจกรรมให้ความรู้กับกลุ่มพิเศษ  ร่วมกับการทำงานอย่างเข็มแข็งของครูในสถานศึกษา  ส่งผลให้ปัญหาการท้องไม่พร้อมในสถานศึกษาเบาบางลงเรื่อยๆ ซึ่งทุกวันนี้เรายังทำงานรณรงค์ป้องกันภายในสถานศึกษาอย่างเข้มแข็ง มีการตั้ง ชมรมเพื่อนใจวัยใส เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  ซึ่งดำเนินกิจกรรมโดยแกนนำเยาวชนที่ผ่านการอบรม จาก สวท นับเป็นความยั่งยืนที่น่าภาคภูมิใจ

การสอนเพศวิถีศึกษาส่วนใหญ่สอนเรื่องอะไร

ความรู้ที่สอนนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการป้องกัน เช่น ทักษะการต่อรอง ทักษะการปฏิเสธ การรู้จักคุณค่าในตัวเอง การรู้จักประเมินสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเวชภัณฑ์การคุมกำเนิด เช่น การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี การรู้จักกินยาคุมกำเนิด  และที่ขาดไม่ได้เลยคือต้องสอนให้นักเรียนรู้จักการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมันเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกัน ท้องได้ก็อาจติดโรคได้ด้วย

วิทยาลัยให้ความสำคัญกับการป้องกันมากน้อยแค่ไหน

โรงเรียนที่ผมสังกัดอยู่ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เชิงป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นอย่างมาก สังเกตได้ว่าหากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ หรือมีหน่วยงานใดมาให้ความรู้กับนักเรียน ทางโรงเรียนจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น กิจกรรมวัยใสห่างไกลเอดส์ กิจกรรมวันแห่งความรักเพศศึกษารอบด้าน และกิจกรรมเชิญวิทยากรมาบรรยาย เป็นต้น  โดยเฉพาะกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้โรงเรียนยังได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการสอดแทรกและบูรณาการความรู้เชิงป้องกันเข้าไปในทุกรายวิชา เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้เยาวชนรู้จักป้องกันตนเองจากปัญหาการท้องไม่พร้อม ซึ่งยั่งยืนและได้ผลดี สิ่งสำคัญคือครูทุกคนในโรงเรียนต้องช่วยกัน

ถ้านักเรียนท้องไม่พร้อม ครูจะรู้เป็นลำดับที่เท่าไหร่

ครูจะรู้เป็นลำดับที่สอง ต่อจากเพื่อน ครู พ่อแม่ เพราะเพื่อนมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อกันมาก

ควรสอนเพศวิถีศึกษากับนักเรียนแค่ไหนจึงจะเหมาะสม

ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรสอนเพศศึกษาในระดับประถมเลย เพราะว่า หากเด็กนักเรียนถูกปลูกฝังค่านิยมการรักนวลสงวนตัว การรู้จักป้องกันตนเองจากการมีเพศสัมพันธ์ รู้จักวิธีการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการสอนให้เด็ก ๆ เหล่านี้รู้จักคิดถึงผลกระทบหากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เชื่อว่าปัญหาการท้องไม่พร้อมในบ้านเราจะเบาบางลง ถ้าเริ่มปลูกฝังความรู้เรื่องเพศให้กับเด็ก ๆ ตั้งวันนี้

นักเรียนกลุ่มไหนเสี่ยงท้องไม่พร้อม

กลุ่มเสี่ยงท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อย มาเรียนสาย ไม่ชอบเข้าแถวหน้าเสาธง แต่ก็มีนักเรียนบางส่วนที่เรียนดีแต่พลาดท้องไม่พร้อมก็มีจำนวนมาก  เพราะฉะนั้นคิดว่านักเรียนหญิงทุกคนมีโอกาสท้องไม่พร้อมเท่า ๆ กัน หากไม่ได้ป้องกันตนเอง

มองการแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมของภาครัฐยังไงบ้าง

ท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาระดับชาติเลยก็ว่าได้ เพราะมันส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม ทุกวันนี้รัฐบาลเองก็พยายามที่จะรณรงค์ป้องกันและลดจำนวนการท้องไม่พร้อมของเยาวชนลง แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องและการทำงานบูรณาการหลาย ๆ ส่วนงาน ซึ่งใน พรบ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการท้องไม่พร้อม ก็ได้ระบุบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรไว้อย่างชัดเชน ส่วนตัวเชื่อว่าถ้ารัฐจริงจัง ปัญหาท้องไม่พร้อมจะค่อย ๆ เบาบางลงเรื่อย ๆ ดังนั้นอยากให้รัฐจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้

ครอบครัวมีส่วนในการแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อม

ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยับยั้งปัญหาการท้องไม่พร้อมให้เบาบางลง  เพราะหากผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน รวมทั้งเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หมดไป อย่าลืมนะครับว่า นักเรียนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่ มีปัญหาครอบครัวเกือบทุกราย เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงเป็นเสมือนประตูด่านแรกที่จะช่วยป้องกันเยาวชนเหล่านี้ ให้มีภูมิคุมกันที่เข็มแข็ง สามารถเผชิญหน้ากับโลกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้

ฝากถึงเยาวชนในวัยเรียน

อยากให้น้อง ๆ เยาวชนในวัยเรียน คิดวิเคราะห์และตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาหากตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ความรักเป็นสิ่งที่ดีงาม ต้องรักให้ถูกและรักให้เป็น  สำคัญที่สุดต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ได้ รู้กจักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เชื่อว่าหากเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้อย่างแน่นอน

ได้รู้จักและได้เห็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการท้องไม่พร้อมของอาจารย์เอกตะวัน  ไปแล้ว จึงอยากย้ำเตือนให้ทุกท่านช่วยกันสอดส่องดูแลเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศของเราให้มีภูมิคุมกันที่ดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ เพราะการปกป้องเยาวชนเป็นเรื่องของเราทุกคน

TAGS

Knowledge

การก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้เกิดจากประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมการ สวท สมัยที่ 16 มองเห็นโอกาสสำคัญในการที่ สวท
เนื่องจากประจำเดือนเป็นการหลุดหลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูก อุณหภูมิของน้ำจึงไม่มีผลต่อความหนาบางและการหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูก
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save